Picture

   มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก  

            ลำไส้ใหญ่เป็นส่วนล่างของระบบทางเดินอาหาร  ซึ่งติดต่อโดยตรงกับลำไส้เล็ก และส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่ ก็คือ ทวารหนัก

สาเหตุ 
           
อาหาร เช่น การรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์มาก ไขมันสูง หรือมีเส้นใยน้อยเป็นประจำ และโรคบางอย่างของลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ ติ่งเนื้องอกในลำไส้บางชนิด อาจกลายเป็นมะเร็งได้ 

อาการ 
           
1. มีการเปลี่ยนแปลงนิสัยในการถ่ายอุจจาระ  ทั้งจำนวนครั้ง และลักษณะของอุจจาระที่ออกมา
           
2. มีเลือดเก่าๆ และมูกออกมาทางทวารหนัก
           
3. ท้องอืด ท้องเฟ้อเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 
           
4. น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ซีด หรือโลหิตจาง โดยหาสาเหตุไม่ได้ 
            5.
คลำก้อนได้ที่บริเวณท้อง และมีการอุดตันของลำไส้ใหญ่ 

การรักษา
           
1. การผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ใช้วีธีการตัดออก และต่อกันได้ มะเร็งทวารหนักที่อยู่ใกล้ทวารหนัก อาจพิจารณาปิดทวารหนักเดิม และทำทวารเทียม ให้บริเวณหน้าท้องผู้ป่วย  ผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระทางหน้าท้อง และสามารถใช้ชีวิตได้ปกติกับ ทวารใหม่นี้ 
           
2. การบำบัดด้วยรังสี ใช้ในมะเร็งทวารหนัก
           
3. เคมีบำบัดใช้บรรเทาอาการหรือร่วมกับการผ่าตัด 

            การรักษาอาจใช้วิธีเดียวหรือร่วมกันหลายวิธีก็ได้ 

การตรวจวินิจฉัย
           
1. การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วย X-ray โดยการ สวนล้างแบเรียม เข้าทางทวารหนัก แล้วถ่าย X-ray
           
2. การตรวจด้วยกล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ สามารถดูรอยโรคโดยตรง และตัดชิ้นเนื้อไปวิเคราะห์ได้ด้วย 
           
3. การตรวจเลือดหาสาร  CEA ซึ่งใช้ในการติดตามผลการรักษา

มารู้จักลำไส้ใหญ่กันเถอะ

คณะแพทย์ รพ.เปาโลฯ

             ลำไส้ใหญ่เป็นอวัยวะที่เปรียบเสมือนกระโถนท้องพระโรง คือ รองรับกากอาหารที่ร่างกายไม่ต้องการ เพื่อรอการกำจัดออกในรูปของอุจจาระ มีลักษณะทางกายวิภาค เป็นท่อกลวงที่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อยาวประมาณ 5 ฟุต เริ่มจากท้องน้อยด้านขวาไปตามขอบของช่องท้อง ขึ้นไปใต้ตับ แล้วพาดผ่านใต้ลิ้นปี่ไปสู่ชายโครงซ้าย เพื่อเลี้ยวลงตามขอบของช่องท้องด้านซ้ายลงไปทางช่องเชิงกราน แล้วจึงออกทางช่องทวารหนัก

            เมื่อลำไส้เล็กได้ทำการดูดซึมสารอาหารจากอาหารที่เรารับประทานลงไป ในแต่ละมื้อแล้ว ส่วนที่ยังเป็นกากอาหารเหลวและที่เหลืออยู่จะผ่านลำไส้เล็ก เข้าสู่ลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ลำไส้ใหญ่จะทำหน้าที่ดูดซึมน้ำและเกลือแร่ ที่ยังคงเหลืออยู่ในกากอาหารนั้น เพื่อทำให้กากอาหารแห้งลงจนเป็นอุจจาระ

            ลำไส้ใหญ่แม้จะถือว่าเป็นส่วนปลายของทางเดินอาหาร แต่จริงๆ แล้วจะเห็นว่ามันแทบไม่มีหน้าที่ในการย่อยอาหารเลย กล้ามเนื้อที่อยู่บนผนังลำไส้ใหญ่จะค่อย ๆ หดตัวเป็นคลื่นเป็นจังหวะ เพื่อบีบไล่อุจจาระไปตามโพรงลำไส้ใหญ่ ในขณะที่ผนังลำไส้ ทำหน้าที่ดูดซับน้ำและเกลือแร่ไปตลอดทาง

โรคลำไส้ใหญ่ที่พบบ่อย ๆ
           
1. เนื้องอก (Tumors) การเจริญเติบโตของเซลล์ผิดปกติ เรียกว่า เนื้องอกหรือทูเม่อ (Tumor) ซึ่งที่ลำไส้ใหญ่มักจะเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง หากปล่อยทิ้งไว้ จะเจริญเติบโตและลุกลามไปผนังส่วนต่างๆ ของร่างกาย มะเร็งมักจะค่อยๆ เจริญเติบโต ใช้เวลาหลายปีกว่าจะปรากฏอาการ การรักษาจะมีโอกาสหายขาดได้มากถ้าตรวจวินิจฉัยได้ตั้งแต่เริ่มเป็น หรือก่อนมีอาการ
            2. ติ่งถุงเนื้อ (Diverticula) ถ้าหากมีแรงดันภายในโพรงลำไส้สูงขึ้นเนื่องจากท้องผูก หรือมีลมในลำไส้ใหญ่ค้างอยู่มาก จะทำให้เกิดแรงดัน ผนังลำไส้ใหญ่ออกไปจนเกิดเป็นติ่งเป็นถุงเนื้อโผ่ลออกไป ทางผิวลำไส้ใหญ่ เรียกว่า "ไดเวอร์ติคูลา" (Diverticula) ซึ่งเวลามีหลายๆ อันก็รวมเรียกว่าโรค "ไดเวอร์ติคูโลสิส" (Diverticulosis) ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อมีอุจจาระไปค้างอยู่ในโพรงติ่งถุงเนื้อเหล่านี้ จนเกิดการติดเชื้อและอักเสบรุนแรงเรียกว่า "ไดเวอร์ติคูไลติส" (Diverticulitis) ซึ่งก่อให้เกิดอาการปวดท้องน้อยโดยมากด้านซ้าย มีไข้และท้องผูก
            3. เนื้องอกโพลิป (Polyps) เป็นเนื้องอกที่ผนังด้านในของลำไส้ใหญ่มีขนาดและรูปร่างต่างๆ กัน ตั้งแต่เม็ดถั่วไปจนเท่าเห็ด ถ้ายังมีขนาดเล็กๆ โดยมากจะไม่เป็นเนื้อร้าย แต่ถ้าขนาดใหญ่ๆ แล้วโอกาสกลายเป็นมะเร็งมีมาก อาการที่โพลิป อาจก่อขึ้นได้มีตั้งแต่ไม่มีอาการไปจนถึงเลือดออก, ปวดมวนท้องหรือท้องผูก โดยมากถ้ามีอาการรุนแรงหรือถ้าโพลิปมีขนาดใหญ่หมอ มักจะแนะนำให้ตัดออกเสีย

มะเร็งลำไส้ใหญ่

นพ.ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์

            การดำรงชีวิตที่เลียนแบบชาวตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งอเมริกัน มีผลทำให้คนไทยเจ็บป่วยด้วยรูปแบบของโรคภัยไข้เจ็บที่คล้ายชาวอเมริกันไปด้วย ยกตัวอย่างเช่นเดี๋ยวนี้ โรคหัวใจขาดเลือดคร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด เป็นอันดับหนึ่งเหมือนชาวอเมริกัน ตามมาด้วยอุบัติเหตุและมะเร็ง

            ในบรรดามะเร็งทั้งหลายนั้น คนไทยจะรู้จักหรือเคยชินกับมะเร็งปอด, เต้านมหรือมดลูกมากกว่าเพื่อน ส่วนมะเร็งของลำไส้ใหญ่มักไม่ค่อยได้พูดถึงกัน ทั้งๆ ที่ขณะนี้มะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ขยับขึ้นมาเป็นฆาตกรอันดับสอง ของมะเร็งทั้งหลายในสหรัฐอเมริกา มีผลทำให้ชาวอเมริกัน ตายจากโรคนี้ปีละ 60,000 คน และอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ตลอดชั่วชีวิตได้เพิ่มจาก 1 ต่อ 25 เมื่อ 30 ปีก่อนมาเป็น 1 ต่อ 20 ในปัจจุบัน

            มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งชนิดร้ายแรงพอควร แต่ก็เป็นมะเร็ง ที่รักษาให้หายขาดได้เช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่าโอกาสรอดชีวิตเกิน 5 ปี หลังการผ่าตัดมีถึง 60% และจะเพิ่มเป็น 80% ถ้าแพทย์สามารถวินิจฉัย มะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เร็วขึ้นจะวินิจฉัยให้เร็วขึ้นได้ อย่างไรยังเป็นประเด็นถกเถียงในวงการแพทย์ เพราะแต่ละวิธีก็ดีๆ ทั้งนั้น เพียงแต่ค่าใช้จ่ายต่างๆ กันออกไป

            เมื่อเร็วๆ นี้นักการเมืองระดับผู้นำของชาติ ที่เคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี และปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองขนาดกลางที่ร่วมรัฐบาลผสมอยู่ คือพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณล้มป่วยด้วยโรคลำไส้ใหญ่ และต้องรับการผ่าตัด ลำไส้ออกที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งการแถลงข่าวปรากฏว่า เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งศัลยแพทย์สามารถตัดออกมาได้

            "ใกล้หมอ" จึงเห็นว่าน่าจะนำเสนอเรื่องมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจและรู้จักโรคนี้ยิ่งขึ้น จะได้นำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันเพื่อคอยเฝ้าระวัง และป้องกันโรคนี้ไว้

            ใครคือคนที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่บ้าง ?

            ประเด็นสำคัญคือ อุบัติการหรือโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะเพิ่มขึ้นตามวัย คือปกติจะพบน้อยในคนอายุไม่ถึง 40 ปี แต่โอกาสเสี่ยงจะเพิ่มเป็น 2 เท่าทันทีหลังอายุ 50 ปีแล้ว และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นอีกถ้าหากมีปัจจัยเสริมดังต่อไปนี้ คือ
            1.
มีญาติใกล้ชิด เช่น พ่อแม่หรือพี่น้องเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ 
            2.
มีญาติใกล้ชิดที่เป็นโรคเนื้องอกของลำไส้ใหญ่ ชนิดที่เรียกว่า FAMILIAL POLYPOSIS
            3.
เป็นโรคลำไส้อักเสบ (INFAMMATORY BOWEL DISEAES)
            4.
รับประทานอาหารที่อุดมด้วยไขมัน แต่มีเส้นใยอาหารต่ำ
            5.
ตัวเองเคยเป็นเนื้องอกชนิด โพลิป (POLYP) ของลำไส้ใหญ่ เนื้องอกนี้ส่วนใหญ่จะไม่กลายเป็นมะเร็ง แต่ถ้าทิ้งไว้ให้มันเจริญเติบโต บนผนังของลำไส้ใหญ่ไปนานๆ แล้วบางอันก็จะกลายเป็นเนื้อร้ายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโพลิปที่มีขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร จะมีโอกาสกลายได้มากกว่าที่มีขนาดเล็กกว่านั้น

            เนื่องจากกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่การรักษาโรคมะเร็งให้หายขาด ได้ในปัจจุบันนี้ยังขึ้นอยู่ที่การค้นพบหรือวินิจฉัยได้ตั้งแต่แรกเริ่มเป็น เพื่อผลการรักษาที่ดีขึ้น นักวิจัยทางการแพทย์จึงพยายามหาวิธีค้นหา มะเร็งลำไส้ใหญ่แบบง่ายๆ ไม่แพงมาก ซึ่งขณะนี้มีทั้งวิธีที่แพง และแม่นยำพอสมควรกับวิธีที่ถูกแต่แม่นยำน้อยหน่อย เกิดเป็นปัญหาว่าวิธีไหนจึงจะคุ้มค่าที่สุดในการตรวจคัด ประชากรกลุ่มใหญ่ๆ นับสิบๆ ล้านคน

            เหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้วงการแพทย์ตกลงไม่ได้ในหลักการ ก็เพราะยังไม่แน่ใจว่า ถึงจะตรวจพบมะเร็งได้แต่เนิ่นๆ แล้วรีบรักษาจะทำให้การตายจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ลดลงจริงหรือเปล่า จนกระทั่งงานวิจัยเมื่อปี 2535 ที่ตีพิมพ์ในวารสารแพทย์นิวอิงแลนด์ บ่งบอกว่า การเอากล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นระยะๆ จะช่วยลดการตายจากมะเร็งลำไส้ได้ 30%

            อีกวิธีหนึ่งซึ่งใช้เป็นหลักการทั่วไปได้ก็คือ ถ้าสมมติว่าท่านผู้อ่าน ไม่มีอาการอะไรเลยที่จะทำให้สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็อาจจะยังไม่ต้องเสียเงินเสียเวลาไปตรวจพิเศษ จนกว่าจะมีอาการที่ทำให้สงสัย

อาการอะไรที่ทำให้นึกถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่ ?
           
1. เลือดออกทางทวารหนัก
            2.
อุปนิสัยการขับถ่ายปัสสาวะที่เปลี่ยนไป เช่น เคยท้องผูกกับ ถ่ายเหลวบ่อย ๆ เคยถ่ายปกติกลับท้องผูก อย่างนี้เป็นต้น
            3.
ปวดมวนท้องหรือปวดท้องบ่อย ๆ
            4.
โลหิตจางโดยไม่ทราบสาเหตุ
            5.
น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ 

            สิ่งสำคัญที่ผู้อ่านควรจำไว้คือว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่ อาจปรากฏขึ้นที่ผิวหนังลำไส้ โดยไม่มีอาการแสดงอะไรเลย แต่ถ้าเป็นจนมีอาการดังกล่าวนี้อาจหมายความว่า ก้อนมะเร็งใหญ่มากแล้ว จึงขอให้รีบไปปรึกษาคุณหมอโดยเร็ว

            เนื่องจากวงการแพทย์ต้องการตรวจจับมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้รักษาให้หายขาดได้ พวกเขาจึงเสนอวิธีต่างๆ ให้เลือกตรวจคือ 
           
1. ใช้นิ้วตรวจทวารหนัก (DIGITAL EXAMINATION) คือ การที่หมอสวมถุงมือแล้วใช้นิ้วชี้ทาสารหล่อลื่น เพื่อสอดนิ้วเข้าไปผ่านรูทวารหนัก เพื่อตรวจลำไส้ใหญ่ และทวารหนักส่วนปลาย จัดเป็นวิธีที่ง่าย, สะดวก, ราคาถูกและไม่เจ็บ สามารถทำได้ ที่ห้องตรวจของหมอทั่วไป
            เป็นที่น่าเสียดายว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่นิยมให้คุณหมอตรวจ หรือหลายคนปฏิเสธ ไม่ยินยอมให้หมอตรวจวิธีนี้แม้คุณหมอเห็นว่า น่าจะตรวจด้วยเหตุนี้ วัฒนธรรมไทยและเจตคติของคนไทย จึงมีส่วนทำให้การตรวจหามะเร็งล่าช้าลง
           
2. การตรวจหาเลือดในอุจจาระ ปกติอุจจาระที่เราขับถ่ายทุกวันไม่มีเลือดปนอยู่เลย แต่ถ้าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้วอาจทำให้เลือดออกซิบๆ จากเนื้อร้ายซึ่งเลือดแม้เพียงนิดเดียวเวลาปนเปื้อนมาในอุจจาระแล้ว เราสามารถตรวจพบได้โดยเอาอุจจาระมาให้คุณหมอตรวจ หรือในสหรัฐอเมริกาอาจมีอุปกรณ์การตรวจเพื่อให้ทำเองที่บ้านได้ อย่างไรก็ตาม การตรวจเลือดในอุจจาระในกลุ่มคนนับแสนนับล้านคน อาจได้ผลบวกเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ทำให้ดูเหมือนว่าไม่คุ้มค่า หรือราวกับขี้ช้างจับตั๊กแตน
           
ข้อดีของวิธีนี้คือ ทำง่าย, ราคาไม่แพง, ไม่เจ็บ
            ข้อเสียคือ เนื้องอกโพลิปและมะเร็งลำไส้ใหญ่ จำนวนมากอาจตรวจไม่พบด้วยวิธีนี้ หรือไม่ก็ให้ผลบวกลวงคือ บอกว่า มีเลือดแต่เลือดไม่ได้ออกจริงๆ
            3. การส่องกล้องตรวจทวารหนัก เนื่องจากมะเร็งของลำไส้ใหญ่ส่วนใหญ่ จะเป็นที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายต่อเนื่องถึงทวารหนัก จึงอาจใช้กล้องส่องตรวจทวารหนักแบบสั้นซึ่งมีความยาว 25 เซนติเมตร ส่องดูผนังทวารหนักซึ่งจะวินิจฉัย เนื้องอกโพลิปและมะเร็งขนาด 1 เซนติเมตรขึ้นไปได้ กว่า 95%
            อันตรายจากการส่องกล้องคือ กล้องอาจมีโอกาสดันทะลุลำไส้ใหญ่ได้ในอัตรา 1 ต่อ 10,000 ครั้ง
            ข้อเสียข้องวิธีนี้คือ ต้องมีการชะล้างลำไส้ใหญ่อย่างดี โดยใช้ยาถ่ายหรือการสวนทวาร ขณะตรวจอาจอึดอัด แต่ก็ใช้เวลาน้อยกว่า 5 นาที และตรวจได้เพียง 25 เซนติเมตรของลำไส้ใหญ่
            ข้อดี คือ มีความแม่นยำ สามารถวินิจฉัย และในหลายกรณีสามารถทำการผ่าตัดเนื้องอกหรือเนื้อร้ายออกได้เลย
            ต่อมามีการประดิษฐ์กล้องส่องตรวจที่ยาวขึ้นและเป็นกล้องงอได้ (FLEXIBLE SIGMOIDOSCOPE) ยาวประมาณ 60 เซนติเมตร ทำให้สามารถส่องดูลำไส้ใหญ่ได้ยาวขึ้น แต่ยังมีข้อเสียคล้ายกล้องส่องที่สั้นกว่า คือยังดูได้ไม่ทั่วลำไส้ใหญ่ และมีอัตราการทะลุ 1: 5,000 กล้องที่ดูได้ทั่วลำไส้ใหญ่ จะมีขนาดยาวราว 1 เมตร ปรับงอได้มีอัตราการทะลุลำไส้ 1 : 500 มีข้อเสียคล้ายกล้องแบบส่องอื่นๆ และใช้เวลาตรวจนานกว่าคืออาจถึง 1 ชั่วโมง และบ่อยครั้งส่องดูไม่ถึงลำไส้ใหญ่ส่วนต้นที่เรียกว่า "ซีกั้ม" (CECUM) ซึ่งมีอัตราการเกิดมะเร็ง 20% ของลำไส้ใหญ่ทั้งหมด
            4. การถ่ายภาพรังสีของลำไส้ใหญ่ การสวนแป้งแบเรียมเข้าไปฉาบลำไส้ใหญ่ แล้วถ่ายภาพเอกซเรย์เรียกว่า "แบเรียม เอเนมา" (BARIUM ENEMA) ใช้เวลาตรวจประมาณ 30 นาที ซึ่งถ้าหากรังสีแพทย์ให้เทคนิคสวนแป้งแบเรียมร่วมกับแก๊ส คือลมเข้าไปด้วยแล้วจะเรียกว่า DOUBLE CONTRAST BARIUM ENEMA โดยรังสีแพทย์บางท่านบอกว่า ทำให้ภาพที่เห็นช่วยการวินิจฉัยที่แม่นยำขึ้น
            โอกาสเกิดลำไส้ทะลุ จากการเอกซเรย์แบบนี้มี 1: 5,000 ครั้ง
            ข้อเสียคือ การเตรียมตัวก่อนตรวจที่สร้างความอึดอัดเล็กน้อย เนื่องจากต้องเตรียมลำไส้ให้สะอาดโดยใช้การสวนและยาระบายควบคู่กัน ผู้รับการตรวจต้องสัมผัสรังสีและเมื่อตรวจพบเนื้องอก ก็ต้องส่องกล้องไปตรวจซ้ำเพื่อตัดชิ้นเนื้อมาตรวจอีกที 
            ข้อดีคือ ตรวจดูลำไส้ใหญ่ได้ทั้งหมด, แม่นยำพอสมควร, ราคาปานกลางและปลอดภัยมาก

สรุปการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการตรวจลำไส้ใหญ่ 
ประเทศ / การตรวจ สหรัฐอเมริกา (เหรียญสหรัฐ) ประเทศไทย เช่น
รพ.เปาโลเมโมเรียล (บาท)
1. ตรวจด้วยนิ้วมือ รวมอยู่ในการตรวจร่างกาย รวมอยู่ในการตรวจร่างกาย
2. ตรวจหาเลือดในอุจจาระ
(FECAL CCCULT BLOOD TEST)
20-40 140
3. ส่องกล้องตรวจแบบ
SIGMOIDOSCOPY
80-120 4,500
4. FLEXIBLE SIGMOIDOSCOPY 160-200 4,500
5. COLONOSCOPY 700-900 4,500
6. BARIUM ENEMA 180-240 1,800

ทำอย่างไรดีที่สุด ?
           
เนื่องจากมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่ค่อยเป็นค่อยไป จึงอาจปรากฏเป็นเนื้องอกอยู่ที่ผนังลำไส้โดยไม่มีอาการอยู่เป็นหลายๆ ปี แต่ถ้าโชคดีเกิดตรวจพบได้แต่เนิ่น ๆ ก็จะทำให้รักษาหายขาดได้ 
           
ดังนั้น ในกรณีที่ท่านผู้อ่านมีอายุเกิน 50 ปี แล้ว การตรวจร่างกายประจำปีเป็นระยะๆ เช่น ตรวจด้วยกล้องส่องทวารหนัก และสวนแป้งแบเรียมเพื่อถ่ายภาพเอกซเรย์ ทุกๆ 3-5 ปี จะตรวจคัดเพื่อวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากท่านเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นองค์ประกอบเสริม ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ยิ่งถ้าสมาชิกในครอบครัวของท่าน คนใดคนหนึ่งเป็นโรคนี้ด้วยแล้ว บางทีท่านจะต้องยอมรับสภาพ แล้วไปรับการตรวจดังกล่าวบ่อยขึ้น เช่น ทุกปีเป็นต้น

แนวทางป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ 
           
การป้องกันหรือการลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดที่ดีที่สุดคือ การไม่สูบบุหรี่ 

แต่ถ้าต้องการป้องกันหรือลดโอกาส เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ล่ะจะทำอย่างไร ?
           
คำตอบในขณะนี้อาจยังไม่ชัดเจน แต่ก็มีหลักฐานชี้แนะว่า การบริโภคอาหารที่มีไขมันต่ำมีเส้นใยมากๆ จะช่วยลดความเสี่ยง ต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ 

            การวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดบอกว่า ผู้ชายที่รับประทานเส้นใยอาหาร (FIBER) มากๆ และไขมันน้อยๆ จะมีโอกาสเกิดเนื้องอกโพลิปน้อยลงอีกต่างหาก ซึ่งก็เป็นการป้องกัน มะเร็งไปในตัวเนื่องจากมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจกลายมาจากโพลิป

            สถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา แนะนำให้เรารับประทาน อาหารที่มีเส้นใยอาหารอย่างน้อยวันละ 20-30 กรัมหรือราว 2 เท่าของที่กินกันอยู่ตามปกติ 

            วิธีที่ฝรั่งจะทำได้ก็โดยการบริโภคขนมปัง, ข้าวกล้อง, เติมใยอาหาร (BRAN) ลงไปในอาหารที่กำลังปรุงเอง ใช้ผักตระกูลถั่วประกอบอาหารให้มากขึ้น

            สำหรับคนไทยก็อาจเลียนแบบโดยใช้ข้าวกล้อง, ข้าวซ้อมมือ มีผักผลไม้ในอาหารแต่ละมื้อมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าการรับประทานไขมันลดลง และใยอาหารเพิ่มขึ้นอาจไม่ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างแท้จริง 100% แต่อาหารดังกล่าวก็ต้องด้วยสุขอนามัย สามารถป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด และถ้าผสมผสานกับการตรวจหามะเร็งด้วยวิธีต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ก็จะช่วยให้ตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เนิ่นขึ้น

            ท่านที่ติดตามข่าวการแพทย์อาจเคยอ่านเจอว่า ยาแอสไพรินป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดได้ แต่ท่านทราบไหมครับว่า แอสไพรินอาจป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ด้วย ดังรายงาน จากวารสารแพทย์นิวอิงแลนด์ปี 2534 ที่พบว่าคน 600,000 คน ที่รับประทานแอสไพรินเป็นประจำจะมีอัตราตาย จากมะเร็งลำไส้ใหญ่ลดลง ซึ่งแม้จะยังไม่พบกลไกลแท้จริงว่า แอสไพรินลดอุบัติการณ์ของมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือเปล่า แต่ก็ทำให้สบายใจขึ้นอีกหน่อย

            มองไปในอนาคต ขณะนี้นักวิจัยค้นพบหน่วยพันธุกรรม (GENE) ซึ่งเป็นสาเหตุของเนื้องอกโพลิปที่เป็นกันทั้งครอบครัว (FAMILIAL POLYPOSIS) แล้วต่อไปจะวิจัยหาหน่วยพันธุกรรม ที่ก่อให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ต่อไป และหวังว่าใน 5-10 ปี ข้างหน้าจะสามารถพัฒนาวิธีการตรวจเลือดอย่างง่ายๆ และราคาถูกเพื่อจะบอกว่าผู้ใดมีความเสี่ยงทางพันธุกรรมสูง ต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่กว่าจะถึงวันนั้น ท่านผู้อ่าน ลองพิจารณาดูว่าตัวเองมีความเสี่ยงสูงมากน้อยเพียงใด แล้วตัดสินใจไปให้คุณหมอตรวจเป็นระยะๆ ทุก ๆ 1-3 ปี ส่วนท่านที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงเลยก็อาจเก็บเงินไว้ก่อนได้ 

มะเร็งลำไส้ใหญ่ 

            ที่สหรัฐอเมริกานั้น มะเร็งของลำไส้ใหญ่เป็นสาเหตุการตาย เนื่องจากมะเร็งเป็นอันดับที่สอง รองจากมะเร็งปอด ประเทศไทยซึ่งคนไทยเริ่มมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตและบริโภคอาหาร แบบชาวตะวันตก ทำให้อันตราการเป็นมะเร็งชนิดนี้เพิ่มขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ แล้ว

            ลำไส้ใหญ่เป็นส่วนท้ายสุดของทางเดินอาหาร (ซึ่งเริ่มที่ปาก) ทำหน้าที่เก็บเศษอาหาร ที่ผ่านการย่อยและดูดซึมมาแล้ว เพื่อเตรียมการขจัดออกจากร่างกายในรูปของอุจจาระ

            ลำไส้ใหญ่มีความยาวต่อเนื่องราว 4-6 ฟุต ประกอบขึ้นด้วยลำกล้ามเนื้อโดยรอบ แบ่งตามลักษณะที่ตั้งออกได้เป็น 4 ส่วนคือ

            1. ลำไส้ใหญ่ส่วนต้น (ascending colon) ซึ่งอยู่ทางด้านขวาของช่องท้อง
            2. ลำไส้ใหญ่ส่วนขวาง (transverse colon) ซึ่งผ่านจากด้านขวาไปยังด้านซ้าย เพื่อไปต่อกับส่วนที่ 3

           3. ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (descending colon) อยู่ทางด้านซ้ายของช่องท้อง ซึ่งพอลงมาถึงบริเวณท้องน้อยจะขด เป็นรูป S เรียกว่า
            4. ลำไส้ใหญ่ส่วนซิกมอยด์ (sigmoid colon) ซึ่งจะไปต่อกับลำไส้ใหญ่ส่วนท้ายคือ
            5. ลำไส้ตรง (rectum) ส่วนนี้จะเปิดออกสู่โลกภายนอก โดยต่อกับทวารหนัก (anus)

            ในจำนวนคนเกือบ 130,000 คนที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในแต่ละปีที่สหรัฐอเมริกานั้น เกือบ 50,000 คนจะเสียชีวิตด้วยเหตุนี้ วงการแพทย์จึงพยายามพัฒนาหาวิธีสำรวจหาปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้คนเป็นมะเร็งชนิดนี้ ตลอดจนหาวิธีตรวจวินิจฉัยโรคให้พบตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม เพื่อจะได้รักษาให้หายขาดได้ หนึ่งในวิธีตรวจคัด (screening) หาโรคนี้คือการส่องกล้อง เข้าไปตรวจดูโพรงลำไส้ใหญ่ตลอดความยาวทั้งหมด เรียกว่า โคโลโนสโคปี (colonoscopy) ซึ่งทำให้แพทย์ได้ความรู้ว่าคนเราพอแก่ตัวลงจะมีโอกาสเกิดเนื้องอกขึ้น ภายในโพรงลำไส้ใหญ่ โดยแรกๆ จะยังเป็นเนื้องอกไม่ร้ายเรียกว่า " โฟลิป " (polyp) เนื้องอกนี้ส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดอาการหรือทำอันตรายใดๆ แต่บางชนิดมีศักยภาพที่จะกลายเป็นเนื้อร้ายได้ ตรงนี้เองที่พวกเราทั้งหลายต้องมอบความไว้วางใจให้แก่หมอที่ส่องกล้องตรวจ โดยหมอจะพิจารณาตัด เนื้องอกออก (การส่องกล้อง) โดยไม่ต้องผ่าตัดเข้าไปในท้องวิธีตัดก็โดยใช้อุปกรณ์คล้องเนื้องอกแล้ว ใช้ไฟฟ้าจี้ตัดออกมาโดยทั้งหมดนี้ทำผ่านกล้องส่องที่ยังคาอยู่ในลำไส้ใหญ่ของเรา ทั้งนี้ส่วนใหญ่ จะไม่รู้สึกเจ็บแต่จะมีอาการอึดอัด ปวดท้องถ่ายหรือรู้สึกอายเสียมากกว่า

            จากการสำรวจพบว่า ชาวอเมริกันอายุ 60 ปีขึ้นไปเกือบครึ่งหนึ่งจะมีเนื้องอกโพลิปอยู่ในลำไส้ใหญ่ แล้วเซลล์ในโพลิปบางเซลล์ประพฤติตัวเกกมะเหรกเกเรกว่าเพื่อน มีการแปลงโฉมกลายพันธุ์ และแบ่งตังอย่างไม่เชื่อฟังคำสั่งใครทั้งสิ้น มากๆ เข้าก็เกิดเป็นตุ่มเนื้อมะเร็งขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของลำไส้ใหญ่ทั้ง 4 ส่วนที่กล่าวมาแล้วก็ได้ 

            เขาจึงแบ่งระยะของการเป็นมะเร็งออกเป็น 5 ระยะคือ 

            ระยะ 0 (stage 0) เซลล์มะเร็งยังเติบโต อยู่ในชั้นเยื่อบุลำไส้ใหญ่ 
            ระยะที่ 1 (stage 1) เซลล์มะเร็งลุกลาม ผ่านทะลุชั้นเยื่อบุแต่ยังไม่ทะลุตลอดผนังของ ลำไส้ใหญ่ 
            ระยะที่ 2 (stage 2) มะเร็งลุกลาม ผ่านทุกชั้นของผนังลำไส้ใหญ่แล้วแต่ยังไม่ลุกลาม ไปที่ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง
            ระยะที่ 3 (stage 3) มะเร็งลุกลาม ไปที่ต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงแล้วแต่ยังไม่ลุกลาม ไปสู่อวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย
            ระยะที่ 4 (stage 4) มะเร็งลุกลาม ไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ, ปอด, เยื่อบุช่องท้อง และรังไข่ 

            การวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่นี้ ถ้าสามารถรู้รายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่ง ขนาด ชนิดของเซลล์มะเร็ง ระยะของโรคที่เป็นอยู่ จะช่วยบอกการพยากรณ์ของโรคได้ดีมาก ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามะเร็งก้อนที่เป็นอยู่นั้นยังไม่ลุกลามออกนอกโพรงลำไส้ใหญ่ ยังไม่กระจายสู่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว โอกาสที่จะผ่าตัดรักษาจนหายขาดก็มี และที่สำคัญคืออัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี (5 year survival rate) (ซึ่งเป็นอัตราที่เขาใช้กันเวลากล่าวถึงมะเร็ง) จะสูงถึง 90% แต่ถ้ามะเร็งลามไปถึงต่อมน้ำเหลืองแล้ว อัตรารอดชีวิตที่ 5 ปี จะลดเหลือ 65% หรือต่ำกว่านั้น

            ข้อดีเกี่ยวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่คือ ส่วนใหญ่จะเจริญเติบโตอย่างช้าๆ บางรายอาจแฝง อยู่ในร่างกายเกือบ 10 ปี แล้วยังอยู่ในสภาพที่ผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้ เพราะมันยังไม่ลุกลามจนเกินขีดความสามารถในการรักษา

            การที่มันโตช้าทำให้ไม่ค่อยก่ออาการในระยะแรกๆ แพทย์จึงต้องใช้วิธีเชิงรุก ในการออกค้นหามะเร็งตั้งแต่ก่อนที่อาการจะปรากฏเขาเรียกกระบวนการนี้ว่า การตรวจคัด (screening) ซึ่งมีหลายวิธี ยากง่ายต่างกัน ค่าใช้จ่ายก็ต่างกัน เช่น
           
1. การตรวจทวารหนักด้วยมือ (digital rectal examination) วิธีนี้หมอจะใส่ถุงมือแล้วทาน้ำมันหล่อลื่น เช่น วาสลีนหรือเควายเจลลี ที่นิ้วชี้ก่อสอดนิ้วเข้าไปทางทวารหนักเพื่อตรวจคลำดูว่ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ วิธีนี้ใช้ตรวจหามะเร็งส่วนลำไส้ตรงและทวารหนักเท่านั้น
           
2. การตรวจหาเลือดที่แฝงมากับอุจจาระ (fecal occult blood test) วิธีนี้เขานำอุจจาระของเราไปตรวจดูด้วยกระบวนการทางเคมี ว่ามีเลือดปน อยู่ในอุจจาระของเราหรือไม่ จัดเป็นการตรวจทางอ้อม และเนื่องจากมะเร็งไม่มีเลือดออกทุกกรณีไป การตรวจไม่พบเลือด จึงไม่ได้หมายความว่าไม่เป็นมะเร็ง ขณะเดียวกัน การตรวจพบเลือดก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นมะเร็งทุกรายไป คือบางคนอาจเป็นแค่ริดสีดวงทวารหนัก บางคนรับประทานอาหารบางอย่างแล้วใช้ปฏิกิริยาเป็นผลบวก จนเข้าใจผิดว่าเป็นเลือดได้ เช่น คนที่รับประทานยาบำรุงที่มีธาตุเหล็กอยู่ด้วย เป็นต้น

การตรวจคัดด้วยกล้องลำไส้ใหญ่ จะช่วยให้คุณหมอตรวจดูโพรงลำไส้ใหญ่ได้ทั้งหมด อย่างชัดเจนและแม่นยำ

ภาพแสดงโพลิปที่กลายเป็นมะเร็ง
แต่ตัดออกได้ผ่านกล้องส่อง


   ในวิธีตัดโพลิปออกโดยใช้ลวดคล้อง

            3. การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ แต่เดิมจะเป็นกล้องแบบตรงและแข็งมีความยาวเพียง 25 เซนติเมตร เรียกว่า กล้องส่องลำไส้ใหญ่ซิกมอยด์ (sigmoidoscope) เวลาสอดเข้าไปทางทวารหนัก ส่วนใหญ่จะไม่เจ็บ แต่จะรู้สึกอึดอัดอยากถ่ายอุจจาระ ก่อนส่องจะต้องสวนอุจจาระออกให้หมดจึงจะตรวจดูได้ตลอดลำไส้ตรง และลำไส้ใหญ่ส่วนซิกมอยด์ 

            ต่อมา วงการแพทย์ได้พัฒนากล้องขนาดเล็กลงที่งอโค้งได้ตามแต่จะบังคับให้เลื้อยเข้าไป ดูโพรงลำไส้ใหญ่ได้ทั้งหมด เรียกว่า กล้องส่องลำไส้ใหญ่ (colonoscope) กล้องนี้จะต่อเข้ากับ กล้องถ่ายภาพวิดีโอ ทำให้หมอเห็นโพรงลำไส้อย่างชัดเจน หากพบชิ้นเนื้อที่ผิดปกติ ก็สามารถตัดออกมาส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อดูว่าเป็นเนื้อร้ายหรือเนื้องอกธรรมดา หรือเป็นการอักเสบระหว่างการตรวจ วิธีนี้หมอมักจะให้ยากล่อมประสาทเพื่อทำให้เราผ่อนคลาย ไม่กังวล ไม่รู้สึกเจ็บ หรือบางทีไม่รู้ว่าหมอทำอะไรจนเสร็จสิ้นกระบวนการแล้วก็มี 
           
4. การสวนแป้งแบเรียมเพื่อการถ่ายภาพรังสี (barium engma) วิธีนี้รังสีแพทย์จะใส่แป้งน้ำที่เป็นสารทึบแสงเข้าทางทวารหนักผสมกับอากาศ แล้วถ่ายภาพรังสีเป็นระยะๆ เพื่อดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่ อย่างไร

            จะเห็นได้ว่ามีวิธีตรวจคัดหลายแบบ หมอจะเป็นผู้พิจารรษเลือกทำโดยบางราย อาจทำหลายวิธีมาประกอบการวินิจฉัย ทั้งนี้หมออาจพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ คือ
            1.
อายุ คนที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนใหญ่คือราว 90% จะมีอายุเกิน 50 ปี 
            2.
เพศ, เผ่าพันธุ์ ในชาวอเมริกันนั้นผู้ชายจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มากกว่าผู้หญิง คนผิวดำจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนผิวขาว แต่คนผิวดำในทวีปอัฟริกา กลับมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ต่ำมาก ดังนั้นความเสี่ยงเชิงเผ่าพันธุ์ จึงขึ้นกับว่าอยู่ในประเทศอุตสาหกรรมหรือเปล่า
            3.
อาหาร อาหารที่อุดมด้วยไขมันและแคลอรี ในขณะที่มีเส้นใยอาหารน้อย (เช่น ข้าวกล้อง ผัก และผลไม้) จะมีความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่สูง
            4.
เนื้องอกโพลิป ถ้ามีเนื้องอกโพลิปอยู่ด้วยก็จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น
            5.
ประวัติครอบครัว คนที่มีญาติสนิทที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็จะมีปัจจัยเสี่ยงสูงขึ้น เช่น ถ้ามีน้องเป็นมะเร็งลำไส้ตรงคนหนึ่งแล้ว คนที่เหลือก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็งแบบเดียวกัน ได้ราว 10-15%
            6. การออกกำลังกาย ผู้ที่มีกิจกรรมที่ใช้กำลังกายปานกลางจะมีความเสี่ยง ต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่น้อยลง
            7.
แอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ คนที่บริโภคทั้งสองอย่างนี้รวมกันจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม คนที่ไม่สูบบุหรี่แต่ดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์โดยบริโภคอาหารที่อุดมด้วยผัก และผลไม้จะยังมีความเสี่ยงต่ำ
            8.
โรคของลำไส้ บางอย่างทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

อาการและอาการแสดง
           
มะเร็งลำไส้ใหญ่อาจไม่มีอาการอะไรเลยก็ได้จนกว่าก้อนมะเร็งจะโตมาก และปรากฏอาการต่างๆ เช่น
            1.
ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน
            2.
อุปนิสัยการขับถ่ายเปลี่ยนไป เช่น เคยถ่ายอุจจาระทุกวันก็เปลี่ยนไปมีอาการท้องผูก
            3.
อุจจาระมีขนาดเล็กลง
            4.
ปวดมวนท้อง
            5.
ปวดถ่ายอุจจาระบ่อยๆ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
            6.
โลหิตจางเนื่องจากขาดธาตุเหล็ก
            7.
น้ำหนักลดโดยไม่ทราบเหตุ 

            นอกจากนี้ยังพบว่า อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ก้อนมะเร็งตั้งอยู่ เช่น ถ้าเป็นมะเร็งที่บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ซึ่งอุจจาระยังเหลวมากนั้น อาการจะปรากฏในรูปของเลือดออก โลหิตจาง อ่อนเพลีย ใจสั่น หายใจลำบาก ถ้าเป็นมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ส่วนขวางอาจปรากฏอาการปวดท้อง ท้องอืด เลือดออก ส่วนมะเร็งที่สำไส้ใหญ่ส่วนปลาย และลำไส้ตรงอาจปรากฏอาการแสดงของอุจจาระ ที่มีก้อนเล็กลง การขับถ่ายไม่สม่ำเสมอ ปวดท้องถ่าย

            มะเร็งของลำไส้ใหญ่ทุกส่วนมีโอกาสปล่อยเลือดออกมาทั้งเลือดสดๆ หรือเลือดเก่า จึงขอให้สังเกตดู หากมีลักษณะสีของอุจจาระเปลี่ยนไปขอให้ปรึกษาคุณหมอทันที 

การรักษา
           
การผ่าตัดเอาลำไส้ใหญ่ส่วนที่มีมะเร็งออกยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดและมีโอกาสหายขาดมากที่สุด ปัญหาจะเกิดขึ้นในกรณีที่มะเร็งอยู่ใกล้ทวารหนักมาก ทำให้ศัลยแพทย์ไม่อาจเย็บลำไส้ ต่อกลับให้เหมือนเดิมได้ กรณีเช่นนี้อาจหมายถึงการย้ายทวารหนักไปไว้ที่ท้องน้อย แล้วใส่ถุงคาดเอวไว้รองรับ

            ด้วยเหตุนี้การตรวจคัดลำไส้ใหญ่เพื่อหาเนื้องอกชนิดธรรมดาที่เรียกว่า โพลิปจึงช่วยให้หมอตัดออกแต่เนิ่นๆ ก่อนเนื้องอกกลายเป็นมะเร็ง

เคมีบำบัดและรังสีรักษา
           
ใช้ประกอบกับการผ่าตัดเพื่อลดโอกาสกำเริบของมะเร็งและโอกาสรอดชีวิตยืนยาวขึ้น หลังการผ่าตัดแล้ว จะต้องพบคุณหมอเป็นระยะๆ เพื่อติดตามดูว่าไม่มีเนื้องอกกำเริบหรือกลับเป็นใหม่ 

การป้องกันหรือการลดความเสี่ยง
           
แม้จะยังไม่มีวิธีกำจัดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ 100% แต่ก็มีวิธีลดความเสี่ยงลงได้ เช่น
            1.
บริโภคอาหารที่อุดมด้วยผักและผลไม้เพื่อให้มีเส้นใยหรือกากอาหารมากขึ้น อุจจาระจะมีขนาดโตขึ้น จนขับถ่ายง่ายขึ้น ไม่คั่งค้างในลำไส้ใหญ่นานเกินไป จนปล่อยสารเคมีที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ของเซลล์เยื่อบุลำไส้ใหญ่ 
            2.
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะได้ทั้งการลดความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ และยังช่วยลดความอ้วน
            3.
การใช้ฮอร์โมนเสริมในหญิงวัยหมดประจำเดือน

            ปัจจุบันนี้วงการแพทย์แนะนำให้คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปปรึกษาคุณหมอ เพื่อช่วยพิจารณาความเสี่ยงแล้วให้รับการส่องกล้องตรวจดูลำไส้ใหญ่ปีละครั้ง เพื่อตรวจคัดว่ามีมะเร็งหรือโพลิปหรือไม่เพื่อจะได้วินิจฉัยและรักษาให้หายขาดได้แต่เนิ่นๆ

มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะต่างๆ

            ถ้าท่านเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ แพทย์จะคุยกับท่านเกี่ยวกับวิธีรักษา วิธีต่างๆ ตั้งแต่การผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด การฉายแสง ตลอดจนบอกถึงผลดี-ผลเสีย และการพยากรณ์โรคด้วย

            สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการวางแนวทางการรักษาและการพยากรณ์ว่า โรคมะเร็งจะมีผลต่อท่านมากน้อยเพียงใด เร็วช้าแค่ไหนคือ การกำหนดระยะของมะเร็งครับ

            ศัลยกรรมผู้ผ่าตัดเอามะเร็งออจากลำไส้ใหญ่และพยาธิแพทย์ผู้ตรวจชิ้นเนื้อ ที่แพทย์ตัดออกมาจะเป็นผู้บอกว่ามะเร็งอยู่ในระยะ (stage) ใด การหาว่ามะเร็งอยู่ในระยะใดจะช่วยให้แพทย์และตัวท่านเอง ด้วยทราบเกี่ยวกับความเสี่ยงของมะเร็งที่ท่านเป็นว่ามากน้อยเพียงใด จะหายขาดหรือกำเริบขึ้นมาอีกไหม

            การรักษาด้วยยาที่เข้าไปทำลายเซลล์มะเร็ง (เคมีบำบัด) มักจะใช้เมื่อมีความเสี่ยงว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่จะกลับมาเป็นอีก การฉายแสงหรือใช้รังสีไปทำลายเซลล์มะเร็ง (รังสีบำบัด) อาจใช้ก่อนผ่าตัดหรือหลังจากผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว

            เมื่อระยะของการเป็นมะเร็งมีความสำคัญอย่างนี้ก็อยากจะให้ท่าน มีความรู้ความเข้าใจบ้างพอสมควรครับ

            ระบบที่นิยมใช้ในการกำหนดระยะมะเร็งคือ ระบบทีเอ็นเอ็ม (TNM) ครับ ระบบนี้กำหนดระยะของมะเร็งโดยพิจารณาจากปัจจัย 3 อย่างคือ
            1. ความลึกที่มะเร็งบุกรุกเข้าไปในผนังลำไส้ใหญ่ 
            2. การแพร่กระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง
            3. การแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น

            จากข้อมูลของปัจจัย 3 อย่างนั้นก็มากำหนดระยะได้ 4 ระยะ แบบนี้ครับ
            1. ระยะที่ 1 หมายถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มะเร็งยังจำกัดอยู่แค่ชั้นในของผนังลำไส้ ไม่ทะลุเลยชั้นของกล้ามเนื้อผนังลำไส้ และไม่แพร่ไปถึงต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะครับ
            มะเร็งระยะนี้นับว่าเบาที่สุด และการพยากรณ์โรคก็ดีที่สุดครับ
            รักษาด้วยการผ่าตัดอย่างเดียวก็มีโอกาสหายขาดสูง มักไม่ต้องใช้เคมีบำบัดหรือรังสีบำบัด
            2. ระยะที่ 2 หมายถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่กินลึกลงไปในผนังลำไส้กว่าระยะที่ 1 ทะลุชั้นกล้ามเนื้อของผนังลำไส้ใหญ่ออกไป แต่ยังไม่ไปต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะที่ห่างออกไป
            มะเร็งลำไส้ใหญ่ปลายระยะที่ 2 อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะกลับเป็นขึ้นมาใหม่ พยาธิแพทย์ที่ตรวจวิเคราะห์ชิ้นเนื้อที่ศัลยแพทย์ตัดออกมาจะช่วยบอกได้ครับว่า มีความเสี่ยงสูงหรือไม่ 
            ถ้ามีความเสี่ยงสูงที่มะเร็งจะกำเริบขึ้นมาอีกแพทย์จะแนะนำว่าท่านควรได้รับการรักษาด้วยยา ซึ่งจะไปฆ่าเซลล์มะเร็ง ถ้ามะเร็งอยู่ใกล้ทวารหนักอาจต้องใช้รังสีบำบัดด้วย
            3. ระยะที่ 3 หมายถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่แพร่กระจายจากลำไส้เข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว แต่ยังไม่บุกรุกอวัยวะอื่นที่อยู่ห่างออไป มะเร็งระยะนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะกลับมาเป็นใหม่ครับ
            การรักษาที่ใช้ทั้งเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัด อาจช่วยป้องกันไม่ให้มะเร็งกลับเป็นใหม่ และช่วยเพิ่มอัตราการอยู่รอดจากมะเร็งชนิดนี้ให้สูงขึ้นครับ
            4. ระยะที่ 4 หมายถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายแล้ว เช่น ไปที่ตับหรือกระดูกเป็นระยะที่รุนแรงที่สุดของมะเร็งแล้วครับ รักษาไม่หาย ได้แค่บรรเทาอาการต่างๆ ให้ลดลง ไม่ให้ทรมาน

เคมีบำบัด
           
เคมีบำบัด หมายถึงการรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยการให้ยาหรือสารที่จะไปฆ่า หรือทำลายเซลล์มะเร็ง ที่อาจหลงเหลืออยู่หลังจากที่ได้ผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกไปแล้ว
            ยังมียาหรือสารอีกชนิดหนึ่งที่ใช้รักษามะเร็งลำไส้ครับ สารนี้ไม่ได้ไปฆ่า หรือทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง แต่ไปช่วยให้ร่างกายของเราหรือระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ต่อสู้กับมะเร็งได้ดีขึ้น
            เมื่อใช้ยานี้ร่วมกับเคมีบำบัดพบว่าผลการรักษาดีขึ้น อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยสูงขึ้น เมื่อเทียบกับการรักษาโดยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว
            ข้อเสียหรือผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ของเคมีบำบัดก็มีพอสมควรครับ ที่พบบ่อยได้แก่ คลื่นไส้ ท้องร่วง ปากเปื่อย ผื่นตามผิวหนัง ผมร่วง กดการทำงานของไขกระดูก การทำงานของตับผิดปกติ เดินเซ อารมณ์ขุ่นมัว
            การให้เคมีบำบัดต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจมีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นระยะยาว เช่น น้ำตาไหลตลอดเวลา ผิวแห้ง ผิวชา หรืออาจเกิดมะเร็งชนิดอื่นตามมา

รังสีบำบัด
           
รังสีบำบัดหรือรังสีรักษา หมายถึงการฉายรังสีไปฆ่าหรือทำลายเซลล์มะเร็ง เป็นวิธีการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่ใช้ควบคู่กับการผ่าตัด บางแห่งใช้รังสีบำบัดก่อนผ่าตัดแต่ส่วนใหญ่แล้วนิยมใช้รังสีหลังผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว
            รังสีจะลดโอกาสที่มะเร็งจะเกิดในอุ้งเชิงกราน จึงใช้ร่วมกับการผ่าตัดมะเร็งระยะที่ 2 และ 3 ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการกลับมาของมะเร็งสูง
            ผลข้างเคียงของการฉายรังสีก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่ เช่น ท้องร่วง ผลต่อผิวหนังบริเวณที่ถูกรังสี รังสีจะไปกดการทำงานของไขกระดูก ผู้ป่วยจะรู้สึกเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ไม่มีแรง และความรู้สึกรับรสอาหารผิดปกติครับ
            สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย มีการศึกษาทดลองพบว่า การรักษาที่ใช้วิธีผ่าตัดร่วมกับเคมีบำบัดและรังสีบำบัดจะได้ผลดีกว่าผ่าตัดอย่างเดียว หรือเคมีบำบัดอย่างเดียว หรือรังสีบำบัดอย่างเดียว
            จึงถือเป็นมาตรฐานการรักษาเลยว่าผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่กระจายของมะเร็ง จะใช้วิธีรักษา 3 วิธีร่วมกันเลย

การตรวจกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ 
           
ท่านคงเห็นแล้วว่ามะเร็งในระยะแรกๆ จะรักษาได้ผลดีกว่าระยะท้ายๆ ถ้าอย่างนั้นหากค้นพบมะเร็งในระยะเริ่มแรก หรือระยะที่ก่อนจะเป็นมะเร็งได้ก็จะดี เพราะมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ ช่วยชีวิตผู้ป่วยให้อยู่ยืนยาว
            การตรวจกรองมะเร็ง ก็คือ การตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรกนั่นเอง
            ในประเทศไทยมะเร็งลำไส้ใหญ่พบมากเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งปอดและมะเร็งตับ
            มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนมากจะเกิดมาจากติ่งเนื้อ (ADENOMATOUS POLYP) ภายในลำไส้ ซึ่งอาจกลายเป็นมะเร็งในเวลา 7-12 ปี 
            มีการศึกษาพบว่าเมื่อตัดติ่งเนื้อนี้ออกจะสามารถลดอัตราการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ตรงนี้การตรวจกรองก็จะช่วยได้ครับ

วิธีการตรวจกรองได้แก่ 
           
1.
ตรวจหาเลือดในอุจจาระ
            2.
ส่องกล้องดูลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย
            3.
ส่องกล้องดูลำไส้ใหญ่ทั้งหมด
            4.
สวนแป้งเอกซเรย์ดูลำไส้ใหญ่ 
            5.
ตรวจหา DNA ของเซลล์มะเร็งในอุจจาระ

            ผู้เชี่ยวชาญพบว่าในคนไทยอายุ 50 ปีขึ้นไป ตรวจพบติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่เพียง 12% ซึ่งน้อยกว่าที่พบในคนอเมริกัน 1-3 เท่า จึงเสนอว่าสำหรับผู้ที่ไม่มีประวัติที่เสี่ยงต่อมะเร็ง อาจเริ่มตรวจกรองหามะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป

            ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงสูงให้เริ่มตรวจกรองในอายุน้อยกว่านี้ครับ ผู้ที่เข้าข่ายมีความเสี่ยงสูงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้แก่ 
            1.
เคยเป็นมะเร็งเต้านม, รังไข่, มดลูก
            2.
เคยเป็นโรคเลือดบางอย่าง
            3.
เคยเป็นเนื้องอกของลำไส้ใหญ่ 
            4.
มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือเนื้องอกลำไส้ 

            ท่านลองพิจารณาดูตัวท่านเองนะครับว่า อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมากหรือน้อย อายุเท่าไรแล้ว หากเข้าตามเกณฑ์ที่ผมกล่าวมามี ควรปรึกษาแพทย์ดูครับว่าจะตรวจกรองหามะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างไรดี ถือคติว่า "รู้ก่อนเป็นดีกว่าเป็นแล้วถึงรู้" ครับ

อาหาร ต้าน มะเร็ง ลำไส้ใหญ่

            มะเร็ง สำไส้ใหญ่เกิดจากการกินอาหารไม่มีเส้นใย เช่น กินนม เนย เนื้อสัตว์ อาหารที่มีไขมันล้นเกิน แป้งขัดขาว แต่ไม่กินเส้นใย เช่น ผักสด ผลไม้สด ข้าวกล้อง ข้าวโพด

            อาหารประเภทเนื้อสัตว์ และไขมัน เมื่อถูกกับน้ำย่อยแล้ว จะเหนียวหนึบเป็นยางมะตอยติดอยู่กับผนังลำไส้ใหญ่ มิหนำซ้ำ ยังมีกรดน้ำดีอยู่ด้วย พอมันติดหนึบเป็นตะกรันอยู่ในตัวเรา ไม่ถูกถ่ายทิ้ง แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ก็กินกรดน้ำดีต่อ ทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง เกิดเป็นมะเร็งของลำไส้ใหญ่ในที่สุด

            ตรงกันข้าม หากเรากินอาหารที่มีสารเส้นใยจากผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ข้าวโพด ฯลฯ เส้นใยเหล่านี้จะไปทำให้กรดน้ำดีในอุจจาระเจือจางลง ป้องกันการเกิดตะกรันที่ติดหนึบเป็นหมากฝรั่ง และเกิดการถ่ายทิ้งออกนอกร่างกายทุกวัน แบคทีเรียจึงไม่ทันย่อยกรดน้ำดี และไม่เกิดสารก่อมะเร็ง

            จะเห็นว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่ป้องกันได้เพียงแต่กินอาหารประเภทผัก ผลไม้วันละมากๆ หันมากินข้าวกล้อง แทนข้าวขาว ปัญหาท้องผูกก็จะหมดไปด้วย อย่าลืมว่า เมื่อใดที่ลำไส้ใหญ่สกปรก มะเร็งจะถามหา ถ้าลำไส้ใหญ่สะอาดก็จะปลอดภัยจากโรคนี้ พบกับเมนูที่ทำให้ได้สารเส้นใยเข้าไป ทำความสะอาดลำไส้เพื่อป้องกันมะเร็ง

ข้าวกล้องคลุกน้ำพริกเผา

           เครื่องปรุง ข้าวกล้องหุงสุกแล้ว 1 ทัพพีพูน น้ำพริกเผา 1 ช้อนโต๊ะ เนื้อปลาดุกย่าง 1/2 ตัว ไข่เค็ม 1/2 ลูกกุ้งแห้งปั่น 1 ช้อนโต๊ะ ผักบุ้ง สะเดา เอาไว้จิ้มแกล้ม

            วิธีทำ คลุกข้าวกล้องกับน้ำพริก จัดเครื่องเคียงทุกอย่างลงจาน กินแกล้มกับผักอย่าง ผักบุ้ง สะเดาผ่านไฟ เป็นต้น

            คุณค่า ข้าวกล้องมีสารเส้นใยสูงกว่าข้าวขาวอย่างน้อย 3 เท่า การหันมากินข้าวกล้อง เพื่อป้องกันลำไส้ใหญ่จึงสอดคล้องกับรสนิยมการกินของคนไทย เพียงแต่เปลี่ยนจากกินข้าวขาวมาเป็นข้าวกล้องเท่านั้น ลำไส้ใหญ่ของเราก็จะสะอาดเอี่ยม และปลอดจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ สะเดาก็เป็นผักไทยที่มีสารเส้นใยสูงมาก สูงกว่าผักตลาดทั่วๆ ไปถึง 5 เท่า คนไทยโบราณนิยมกิน สะเดาเป็นยาจึงไม่ค่อยเป็นโรคนี้

ผัดเผ็ดเต้าหู้

            เครื่องปรุง เต้าหู้แบบสี่เหลี่ยม 1 อัน น้ำพริกแกง 1 ช้อนโต๊ะ มะเขือเปราะ 5 ลูก กระชายใบมะกรูด ใบโหระพา น้ำมัน น้ำปลา

            วิธีทำ หั่นเต้าหู้เป็นสี่เหลี่ยมพอดีคำ นำไปทอดให้เหลืองก่อน พักไว้ เอาน้ำมันตั้งไฟเอาน้ำพริกเครื่องแกงลงผัดจนหอม ใส่มะเขือเปราะผัดจนสุก ใส่เต้าหู้ ยกลงใส่กระชาย ใบมะกรูด และโหระพา

            คุณค่า เต้าหู้เป็นอาหารโปรตีนที่มีเส้นใยสูง ผิดกับเนื้อสัตว์ที่เป็นอาหารโปรตีน แต่ไม่มีเส้นใย การกินเต้าหู้จึงทำให้ได้สารเส้นใยเข้าไปทำความสะอาดลำไส้ใหญ่ในคราวเดียวกัน เต้าหู้จึงจัดเป็นอาหารสุขภาพ ด้วยเหตุนี้

 

    

 

/ มะเร็งในระบบประสาท / มะเร็งของกระดูก / มะเร็งช่องปาก / มะเร็งกล่องเสียง

/ มะเร็งต่อมธัยรอยด์ / มะเร็งต่อมน้ำเหลือง / มะเร็งตับ / มะเร็งตับอ่อน / มะเร็งปากมดลูก /

/ มะเร็งมดลูก / มะเร็งรังไข่ / มะเร็งเต้านม / มะเร็งปอด / มะเร็งผิวหนัง /

/ มะเร็งต่อมลูกหมาก / มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก / มะเร็งเม็ดเลือดขาว /

/ มะเร็งถุงน้ำดีและท่อน้ำดี /