Picture

   มะเร็งปากมดลูก  

            เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในหญิงไทย พบมากในช่วงอายุ 35 - 50 ปี และสามารถป้องกันได้ 

ภาวะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก
           
1. สตรีที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย  (ต่ำกว่า  18 ปี)
            2. มีคู่นอนหลายคน สำส่อนทางเพศ
           
3. มีประวัติเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ 
           
4. มีโรคเรื้อรัง หรือโรคที่ทำให้ภูมิต้านทานต่ำ เช่น โรคเอดส์ 
           
5. เคยมีความผิดปกติของปากมดลูกจากการตรวจภายใน และทำ Pap Smear

สัญญาณเตือนภัย
           
1. ในระยะเริ่มแรกอาจไม่มีอาการเลย หรืออาจมีเลือดออกจากช่องคลอดเวลามีเพศสัมพันธ์ 
            2. ประจำเดือนมาผิดปกติ 
            3. ตกขาวมีกลิ่น ปริมาณมาก สีผิดปกติ หรืออาจปนเลือด

การป้องกัน
           
1. ตรวจภายในทุก 1 - 3 ปี 
           
2. ไม่สูบบุหรี่ 
           
3. ใช้ถุงยางอนามัยเวลามีเพศสัมพันธ์ เพื่อหลีกเลี่ยงโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ 
           
4. ไปพบแพทย์ หากมีตกขาวผิดปกติ หรือมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด

เนื้องอกของมดลูกชนิดธรรมดา (Myoma Uteri)

            เมื่อแพทย์บอกกล่าวให้สตรีผู้รับการตรวจร่างกายว่า เธอมีเนื้องอก (Tumor) ที่มดลูก ถึงแม้เป็นเนื้องอกธรรมดา ไม่มีคุณสมบัติร้ายแรงแบบเนื้องอกชนิดร้ายที่เรียกว่ามะเร็ง (Cancer) สตรีผู้นั้นมักวิตกกังวล บางรายขอยืนยันให้ผ่าตัดมดลูก และเนื้องอกชนิดธรรมดาออกเสียทั้งๆ ที่เธอไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด 

            เนื้องอกของมดลูกชนิดธรรมดา เรียกว่า Myomauteri หรือ Uterine fibroid นั้น ประกอบด้วยเนื้อเยื่อคล้ายกับผนังของมดลูก แต่มีส่วนที่เป็นพังผืดมากกว่า มันเป็นเนื้องอกที่พบบ่อยมากถึง 25% ของสตรีที่มีอายุ 30 ปี หรือมากกว่านั้น คือ ตรวจพบมากในช่วงวัยเจริญพันธุ์ และพบน้อยมากก่อนวัยเริ่มมีประจำเดือน ขนาดของเนื้องอกมักเล็กลงในสตรีช่วงหมดประจำเดือน ทั้งนี้เพราะขนาดการ เจริญเติบใหญ่ของเนื้องอก ขึ้นอยู่กับระดับฮอร์โมนสตรีเพศเอสโตรเจน (Estrogen) ดังนั้น สตรีที่เริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อย ราว 11 ขวบ เธอย่อมได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนขนาดสูงเป็นระยะยาวนาน เธอย่อมมีอัตราเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกของมดลูกชนิดนี้สูงกว่าสตรีทั่วไป อัตราการเกิดเนื้องอกในมดลูกสูงในครอบครัวที่มีประวัติมารดา หรือญาติพี่น้องมีเนื้องอกชนิดนี้ คนอ้วนมีความโน้มเอียงสูงในการเกิดเนื้องอกแบบนี้เช่นเดียวกับสตรีที่มีเชื้อสายแอฟฟริกัน

            จากสถิติยาคุมกำเนิดชนิดที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ ไม่ทำให้เกิดเนื้องอกชนิดนี้ คนที่มีเนื้องอกอยู่แล้ว ยาคุมกำเนิดพวกนี้ไม่ทำให้ขนาดของเนื้องอกโตขึ้น

            ปัจจุบันสตรีที่มีความเอาใจใส่ในสุขภาพของตนเองมากขึ้น ดังนั้น ส่วนใหญ่เมื่อแพทย์ตรวจพบว่ามดลูกของเธอมีเนื้องอก Myoma ขนาดของเนื้องอกที่พบจึงมีขนาดเล็ก และไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด

ขนาด
           
เนื้องอก Myoma มีขนาดต่างๆ กัน ตั้งแต่ขนาดเท่าหัวเข็มหมุดจนถึงขนาดหัวเด็กทารก

อาการผิดปกติ 
           
อาการผิดปกติที่อาจพบได้ เป็นต้นว่า 
           
1. ความรู้สึกปวดหน่วงในท้องน้อย โดยเฉพาะเวลาเย็น สตรีบางคนอาจมีอาการเจ็บเสียวทางข้างซ้าย ขวาของท้องน้อยได้ บางครั้งเจ็บปวดมากถึงขนาดตัวงอ ทั้งนี้เนื่องจากเส้นพังผืดที่ยึดมดลูกอาจถูกดึงรั้ง เนื่องจากขนาดของเนื้องอกที่โตขึ้น ทำให้มดลูกเอียง หรือถ่วงมดลูกไปทางใดทางหนึ่ง
            2. อาการปวดท้องโดยเฉพาะช่วงระหว่างมีประจำเดือน และปัญหาเกี่ยวกับเลือดระดูมาบ่อย หรือมานาน และมีจำนวนมาก มักพบในสตรีที่มีเนื้องอกอยู่ในตำแหน่งแทรกอยู่ในผนังมดลูก หรือยื่นเข้าไปข้างในโพรงมดลูก ถ้าเนื้องอกยื่นออกมานอกมดลูกมักไม่เกิดอาการผิดปกติ นอกจากมันไปกดอวัยวะอื่นในอุ้งเชิงกราน หรือขั้วของเนื้องอกบิดเกลียว
            3. เนื้องอกนี้อาจทำให้สตรีมีระดูยาวนาน และมากพอจนทำให้เกิดอาการโลหิตจาง คือ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ซูบซีด และเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้แพทย์ตัดสินใจทำการผ่าตัด ขนาดของเนื้องอก รวมทั้งตำแหน่งของมันอาจไปกดกระเพาะปัสสาวะ เบียดเนื้อที่ในกระเพาะปัสสาวะเล็กลง ซึ่งทำให้สตรีผู้นั้นมีปัญหาทางปัสสาวะบ่อย หรือถ้าก้อนเนื้องอกไปกดตรงท่อไตที่นำปัสสาวะจากไตลงสู่กระเพาะปัสสาวะ อาจทำให้เกิดน้ำปัสสาวะคั่งในไต และปัญหาเกี่ยวกับไตได้ นอกจากสตรีมีปัญหาในทางขับถ่ายอุจจจาระลำบากแล้ว อาการปวดหลังอาจพบได้ในกลุ่มสตรีที่มีเนื้องอก สตรีที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากก้อนเนื้องอกไปรบกวนการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว ณ ผนังด้านในโพรงมดลูก หรือก้อนเนื้องอกไปปิดกั้นทางเดินของตัวเชื้ออสุจิไม่ให้เข้าไปในท่อนำไข่ได้ โอกาสของก้อนเนื้องอกจะกลายเป็นมะเร็งน้อยมาก น้อยกว่าหนึ่งเปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุนี้ถ้าสตรีใดไม่มีอาการดังกล่าว ในปัจจุบันนี้ แพทย์มักไม่แนะนำการผ่าตัด

การวินิจฉัย
           
การใช้เครื่องมือช่วยในการตรวจวินิจฉัยก้อนเนื้องอก ได้แก่ 
           
1. Vagina ultrasound คลื่นเสียงที่ใช้ตรวจได้โดยสอดหัวเครื่องเข้าในช่องคลอด
            2. Abdominal ultrasound ตรวจทางหน้าท้อง

            การใช้กล้องเล็กๆ ขนาดปากกาหมึกซึมสอดเข้าทางปากช่องคลอด เพื่อส่องดูโพรงมดลูก (Hysteroscope) มีทั้งการใช้กล้องแบบเดียวกันสอดทางรอยกรีดใต้สะดือ เพื่อเข้าไปดูในช่องท้อง อาจนำมาใช้เพื่อการรักษาตัดก้อนเนื้องอกที่อยู่ในโพรงมดลูก หรือช่องท้องร่วมไปกับการวินิจฉัยเวลาเดียวกัน

            เนื่องจากในปัจจุบันนี้ วงการแพทย์มีเครื่องมือที่ช่วยในการวินิจฉัย และเฝ้าติดตามดูแลขนาดของก้อนเนื้อหลังงอกได้อย่างแม่นยำถูกต้อง ดังนั้น ถ้าสตรีผู้นั้นไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างไร ก้อนเนื้องอกขนาดไม่โตมาก เมื่อสตรีผู้นั้นอายุมากขึ้น ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดต่ำลง ขนาดก้อนเนื้องอกนั้นย่อมเล็กลง

            คนไข้สตรีผู้หนึ่งที่มีก้อนเนื้องอก Myoma ขนาดใหญ่ 10 เซนติเมตร หรือตัวมดลูกโตระดับสะดือ เพียงชั่วระยะเวลาไม่ถึงปี ขนาดเนื้องอกลดลงเหลือเพียงหนึ่งในสามของขนาดเดิม การใช้การตรวจด้วยคลื่นแสงเฝ้าติดตาม ช่วยในการดูลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปในเนื้อของก้อนเนื้องอก ถ้าไม่จำเป็น ไม่ควรแนะนำให้คนไข้ไปรับการผ่าตัด เพราะมดลูกมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ และแม้แต่ช่องคลอดเอง อวัยวะต่างๆ เหล่านี้มีเนื้อเยื่อ และพังผืดยึดโยงกันอยู่อย่างใกล้ชิด ถ้าแพทย์ทำการผ่าตัดมดลูก โดยไม่คำนึงถึงบทบาทของพังผืด และเนื้อเยื่อที่ยึดรั้งกันไว้ สตรีผู้ได้รับการผ่าตัดอาจเกิดภาวะช่องคลอดเคลื่อนต่ำมาทางปากช่องคลอด รวมทั้งประเพาะปัสสาวะ และทวารหนักซึ่งมีความโน้มเอียงในการห้อยย้อยลงมาอยู่แล้ว ดังนั้น การเฝ้าติดตามดูแลเนื้องอกทุกปีด้วยการตรวจภายใน และวิธีอื่นที่เหมาะสมกว่าการผ่าตัดเอาเนื้องอก หรือมดลูกออก ยกเว้นสตรีผู้นั้นเกิดปัญหาใด ปัญหาหนึ่งดังกล่าวมาแล้ว

            การใช้ยาพวกฮอร์โมนสตรีเพศตัวที่สองชื่อ โปรเจสเตอโรน (Progesterone) หรือยาที่กดการหลั่งของฮอร์โมน (GNRH agonist) ช่วยทำให้ขนาดของก้อนเนื้องอกลดลง แต่ส่วนมากใช้เพียงแค่สามเดือนก่อนการผ่าตัด ถ้าใช้เกิดกว่าสามเดือนขนาดของเนื้องอกไม่ลดลงไปอีก และถ้าหยุดใช้ขนาดของเนื้องอกโตกลับเท่าเดิม ในรายที่จำเป็นต้องรับการผ่าตัดมดลูกออก สมัยนี้มีวิธีผ่าตัดโดยใช้กล้องช่วย Laparoscope Vagina Assist Surgery ช่วยให้แพทย์สามารถผ่าตัดมดลูกที่มีเนื้องอกออกทางช่องคลอดได้ เป็นเหตุให้คนไข้ฟื้นตัวเร็ว เสียเลือดน้อยกว่าการผ่าตัดทางหน้าท้อง

มะเร็งมดลูก

            มดลูกเป็นอวัยวะที่มีโพรง ตั้งอยู่ในบริเวณท้องน้อยระหว่างกระเพาะปัสสาวะ และทางเดินอุจจาระ ส่วนล่างสุดของมดลูกจะคอดแคบ เรียกว่า ปากมดลูก ส่วนบนจะกว้างเรียกว่า ตัวมดลูก ตัวมดลูกประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 2 ชั้น ชั้นในสุดของมดลูก เรียกว่า เยื่อบุมดลูก (Endometrium) ซึ่งในหญิงวัยเจริญพันธุ์ ชั้นนี้จะเปลี่ยนแปลงตลอดเดือนตามรอบประจำเดือนแต่ละเดือน เยื่อบุมดลูกจะโต และหนา เพื่อเตรียมรองรับไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว เลือดประจำเดือนเกิดขึ้น เนื่องจากเยื่อบุโพรงมดลูกในระยะนี้ไม่ได้ใช้ และจะสลายตัวถูกขับออกมาทางช่องคลอด ชั้นนอกสุดของมดลูกเป็นชั้นกล้ามเนื้อ (Myometrium) จะขยายตัวตั้งครรภ์ เพื่อรองรับเด็กที่เจริญเติบโตขยายขนาดนี้ มะเร็งของมดลูกส่วนใหญ่เกิดขึ้นในชั้นเยื่อบุมดลูก จึงเรียกว่า มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

ความหมายของคำต่างๆ 
           
1.
เนื้องอกมดลูก ไม่ใช่มะเร็งมดลูกจะไม่มีการแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นในร่างกาย และน้อยมากที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต มีเนื้องอกหลายแบบที่เกิดขึ้นในตัวมดลูก บางรายไม่จำเป็นต้องรักษาเนื้องอกเหล่านี้ บางรายจำเป็นต้องผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออก
            2. Fibroid เป็นเนื้องอกธรรมดาของมดลูกชนิดหนึ่ง พบบ่อยในหญิงอายุเกิน 35 ปี อาจจะเป็น 1 ก้อน หรือหลายก้อนก็ได้ อาการผิดปกติของผู้ป่วยจะขึ้นกับขนาด และตำแหน่งของก้อนเนื้องอก เช่น มักจะมีเลือดออกผิดปกติ ตกขาวทางช่องคลอด หรือปัสสาวะบ่อย เมื่อก้อนเนื้องอกกดอวัยวะใกล้เคียงจะทำให้เกิดอาการปวด การรักษา คือ การผ่าตัด อย่างไรก็ตาม พบได้บ่อยมากที่ก้อนเนื้องอกนี้ไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ และไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ควรได้รับการตรวจบ่อยๆ เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลง และเมื่ออยู่ในภาวะหมดประจำเดือน ก้อนเนื้องอกนี้อาจจะฝ่อเล็กลง บางรายอาจจะหายไปได้ 
            3. Endometriosis คือ ภาวะที่มีเนื้อเยื่อลักษณะคล้าย และแสดงอาการเหมือนเยื่อบุโพรงมดลูก แต่กลับไปอยู่ผิดที่ คือ แทนที่จะอยู่ในโพรงมดลูก แต่ไปอยู่ที่ตัวกล้ามเนื้อมดลูกแทน บางครั้งก็พบอยู่ที่ผิวของรังไข่ หรือส่วนต่างๆ ในช่องท้อง เนื้องอกชนิดนี้พบในวัย 30-40 ปี จะทำให้เกิดอาการปวดท้องมากขณะมีประจำเดือน และมีเลือดออกผิดปกติได้ บางครั้งทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก วิธีการรักษา มีทั้งการใช้ยา และการผ่าตัด
            4. Hyperplasia คือ ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว เกิดจากการเพิ่มจำนวนของเซลล์ปกติที่บุโพรงมดลูก ถึงแม้ว่าภาวะนี้จะไม่ใช่มะเร็ง แต่จะเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้ในบางราย อาการส่วนใหญ่ คือ ประจำเดือนออกมาก และมีเลือดออกระหว่างรอบระดู การรักษาขึ้นกับว่าเป็นมาก หรือน้อย และขึ้นกับอายุของผู้ป่วย ถ้าอายุน้อยมักจะรักษาด้วยฮอร์โมน และตรวจเช็คเยื่อบุโพรงมดลูกสม่ำเสมอ ถ้าเกิดขึ้นภายในระยะใกล้ หรือหลังหมดประจำเดือน อาจจะรักษาด้วยฮอร์โมน ถ้าภาวะที่เกิดขึ้นไม่รุนแรง และจะใช้การผ่าตัดเอามดลูกออก เมื่อเยื่อบุมดลูกหนาตัวชนิดรุนแรง แต่จะทราบว่าเป็นเยื่อบุมดลูกหนาตัวแบบใดนั้น จำเป็นต้องขูดมดลูก เอาเยื่อบุที่อยู่ภายในโพรงมดลูกส่งตรวจทางพยาธิก่อน จึงจะให้การรักษาขั้นต่อไปได้ 
            3.
มะเร็งมดลูก สามารถแพร่กระจาย และทำลายอวัยวะใกล้เคียงได้ มะเร็งของมดลูกมักจะแพร่กระจายทางกระแสโลหิต หรือระบบท่อน้ำเหลือง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่แพทย์จะต้องผ่าตัดเอาต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานออกไป เพื่อตรวจสอบว่ามีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายหรือไม่ 

อาการของมะเร็งมดลูก
           
ที่พบบ่อยที่สุด คือ การมีเลือดออกผิดปกติหลังประจำเดือนหมด เลือดอาจออกเป็นน้ำ หรือมีเลือดปนตกขาวในระยะแรก ต่อมาจะเป็นเลือดมากขึ้นพบได้บ่อยหลังประจำเดือนหมด แต่อาจพบได้ในวัยใกล้ๆ หมดประจำเดือนก็ได้ ดังนั้น การมีเลือดออกอีกในหญิงวัยหมดประจำเดือนแล้ว จำเป็นต้องรีบไปรับการตรวจจากแพทย์ เพื่อขูดมดลูก เลือดออกผิดปกติไม่ใช่อาการของมะเร็งเสมอไป แต่ถ้าเกิดขึ้นจำเป็นจะต้องมาปรึกษาแพทย์ เพื่อจะค้นหาสาเหตุของเลือดออก การวินิจฉัยได้แต่เนิ่นๆ ว่าเป็นมะเร็งมีความสำคัญมากต่อการรักษาให้หายขาด

การวินิจฉัย
           
จำเป็นต้องใช้การตรวจหลายแบบประกอบกัน สิ่งที่จำเป็นที่สุด คือ การได้ผลชิ้นเนื้อจากโพรงมดลูก แนวทางการตรวจประกอบด้วย
            1.
การตรวจภายในเพื่อดูขนาด และรูปร่างของมดลูก
            2.
Pap smear ปกติจะใช้ตรวจหามะเร็งปากมดลูก บางครั้งอาจจะใช้วินิจฉัยมะเร็งเยื่อบุมดลูกได้ ถ้ามีเซลล์ผิดปกติหลุดลอกออกมาจากโพรงมดลูก
            3.
การขูดมดลูกเพื่อเอาชิ้นส่วนเล็กๆ ที่บุโพรงมดลูกออกมาตรวจทางพยาธิ เมื่อพบว่ามีเซลล์มะเร็งแล้ว แพทย์จะต้องค้นหาว่า โรคได้ลุกลามกระจายออกนอกมดลูกไปยังอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายหรือไม่ โดยใช้การตรวจสอบจากเลือด, X-ray บางรายมีการใช้ X-ray ชนิดพิเศษ เช่น C.T. หรือ CAT scan มักจะต้องใช้เครื่อง Ultrasound เพื่อตรวจดูอวัยวะภายในด้วย บางรายต้องมีการตรวจพิเศษทางกระเพาะปัสสาวะ ระบบลำไส้ส่วนล่าง และทวารหนัก

การรักษา
           
ผลการรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค ชนิดของเซลล์มะเร็ง อายุ และสุขภาพทั่วๆ ไป ของคนไข้ 

วิธีการรักษา
           
โดยการผ่าตัด การใช้รังสีรักษา การใช้ฮอร์โมน และการใช้เคมีบำบัด มะเร็งมดลูกระยะเริ่มแรก จะต้องรักษาโดยการผ่าตัดเอามดลูก และปากมดลูกออก พร้อมทั้งปีกมดลูก และรังไข่ทั้ง 2 ข้าง แพทย์บางท่านแนะนำให้ใช้รังสีรักษาก่อนการผ่าตัด เพื่อให้เซลล์มะเร็งหยุดชะงักการเจริญเติบโต แพทย์บางท่านต้องการตรวจสอบคนไข้ก่อนอย่างละเอียดขณะผ่าตัด และแนะนำให้ใช้รังสีรักษาหลังการผ่าตัด เฉพาะในรายที่มีโอกาสจะกลับเป็นซ้ำอีก การใช้รังสีรักษา มีทั้งการฉายแสงจากภายนอก และการฝังแร่ภายในร่างกาย ถ้าผู้ป่วยกลับเป็นซ้ำอีก หรือมีการแพร่กระจายภายหลังการใช้รังสีรักษา แพทย์ก็จะใช้ฮอร์โมน (กลุ่ม progesterone) หรือเคมีบำบัดเพื่อการรักษาต่อไป

ข้อแทรกซ้อนของการรักษา
           
เป็นการยากที่จะให้การรักษามีผลเฉพาะตัวเซลล์มะเร็งอย่างเดียว โดยที่เซลล์ปกติของร่างกายจะไม่ถูกกระทบกระเทือน ดังนั้น เนื้อเยื่อปกติของร่างกาย ก็จะถูกทำลายไปด้วย จากการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ดังกล่าว เช่น
            1. การผ่าตัดเอามดลูกออก ผู้ป่วยอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบทางเดินอาหาร เจ็บปวดบริเวณท้องน้อยที่ผ่าตัด ซึ่งเป็นระยะแรกๆ หลังผ่าตัด ต่อไปก็จะกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ เมื่อไม่มีมดลูกก็จะไม่มีประจำเดือนอีกต่อไป และถ้ารังไข่ถูกตัดออกไปด้วย ผู้ป่วยก็จะมีอาการของคนหมดประจำเดือน เช่น อาการร้อนๆ หนาวๆ เหงื่อแตก ส่วนในด้านความต้องการและความสามารถทางเพศ โดยทั่วไปจะไม่เปลี่ยนแปลง
            2.
การใช้รังสีรักษา จะทำลายการแบ่งตัวและการเจริญเติบโตของเซลล์ ทั้งเซลล์ปกติ และเซลล์มะเร็ง แต่เซลล์ปกติจะกลับสู่สภาพเดิมได้เร็ว ขณะได้รับรังสีรักษาจะมีผื่นแดงบริเวณที่ได้รับรังสี บางคนมีอาการท้องเสีย และปัสสาวะลำบาก บางคนมีอาการแห้ง คัน และแสบร้อน บริเวณช่องคลอด หรือรู้สึกเจ็บปวดเวลามีเพศสัมพันธ์ จึงควรละเว้นขณะรักษา อาการทั้งหมดดังกล่าวนี้ จะกลับสู่สภาพปกติได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ หลังจากเสร็จสิ้นการรักษา
            3.
การใช้ฮอร์โมน เพื่อหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยทั่วไปแล้วมักไม่ค่อยมีผลข้างเคียงต่อคนไข้ 
            4.
การใช้เคมีบำบัด มีหลายชนิด คือ ชนิดรับประทาน ชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ และฉีดเข้าทางหลอดเลือดแดง มักจะให้เป็นรอบ คือ มีระยะพักตัว และระยะให้ยาสลับกันไป ผู้ป่วยอาจจะต้องนอนโรงพยาบาล เพื่อการใช้ยาเคมีบำบัด หรือมารักษาแบบผู้ป่วยนอกก็ได้ขึ้นกับชนิดของยาที่แพทย์ใช้ ผลข้างเคียงขึ้นกับชนิดของยา และการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละคน โดยทั่วไปยาเคมีบำบัดจะมีผลต่อเซลล์ผม เซลล์สร้างเลือด และเซลล์ที่บุทางเดินอาหาร ทำให้เกิดผมร่วง เม็ดเลือดต่ำ คลื่นไส้ อาเจียน เมื่ออยู่ในระยะพักตัว หรือเมื่อสิ้นสุดการรักษาแล้วอาการต่างๆ เหล่านี้จะกลับคืนสู่ภาวะปกติ 

            หลังจากเสร็จสิ้นการรักษาแล้ว ผู้ป่วยจะต้องมาพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาหลายปี เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งมดลูกอีก แพทย์จะต้องทำการตรวจภายใน X-ray ปอด และตรวจเลือด สำหรับผู้ป่วยที่มีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งมดลูก ได้แก่ คนอ้วน มีบุตรยาก มีประจำเดือนเมื่ออายุน้อย และหมดประจำเดือนช้า เพราะโรคนี้มีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน estrogen พบว่าสตรีที่ได้รับยา estrogen เพื่อรักษาอาการของวัยหมดประจำเดือน จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูกนี้ 2-8 เท่า เทียบกับสตรีที่ไม่ได้รับ estrogen อัตราเสี่ยงนี้จะเพิ่มสูงขึ้นภายหลังใช้ estrogen 2-4 ปี และจะเพิ่มมากขึ้นถ้าใช้ยา estrogen ในขนาดสูงเป็นเวลานานๆ แต่สตรีที่ได้รับยา estrogen หลังจากได้ผ่าตัดมดลูกออกแล้ว จะไม่มีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูก แพทย์หลายท่านเชื่อว่า การใช้ยาทั้ง 2 ตัว คือ ฮอร์โมน estrogen และ porgestin เพื่อรักษาอาการของสตรีวัยหมดประจำเดือน จะลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูกได้ ดังนั้น สตรีที่ได้รับฮอร์โมนทุกคนจำเป็นต้องได้รับการตรวจร่างกายสม่ำเสมอ และถ้ามีเลือดออกผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ทันที 

มัวแต่อายลงท้ายก็ต้องฉายแสง

น.พ.วีระ สุรเศรณีวงศ์ 

           ในชีวิตการเป็นแพทย์โดยเฉพาะ แพทย์ที่ดูแลคนไข้มะเร็งนรีเวช หรือมะเร็งใน อวัยวะสืบพันธ์สตรี ก็จะพบนิยายชีวิตที่น่าเศร้ารันทดซ้ำซากเหมือนนิยายน้ำเน่า ทางโทรทัศน์ฉันใดก็ฉันนั้น จนบางครั้งแทบอยากจะตะโกนให้คุณผู้หญิงได้ยินให้ทั่วกันว่า "เมื่อไหร่จะเลิกอายเสียที 

            ประมาณ 1 สัปดาห์หย่อนเล็กน้อย ก็ได้รับปรึกษาจากเพื่อนแพทย์ด้วยกัน ให้ช่วยดูแลเพื่อนสตรีของเธอ ซึ่งมารอพบอยู่หน้าห้องทำงาน พอพบหน้าก็คลับคล้ายคลับคลาเหมือนคนรู้จักกัน เธอเป็นเจ้าพนักงานข้าราชการชั้นสูง อายุอานามก็ใกล้ 40 ชนิด 40 ยังแจ๋วก็ว่าได้ สูงโปร่งแต่ผอมซีด ดูท่าทางวิตกกังวล แม้จะเมคอัพอย่างไรก็ปิดบังสายตาของผู้เป็นหมอไม่ได้ ซักถามเกริ่นนำ ก็ทราบได้ว่าเคยรู้จักกับสามีของเธอมาก่อน เธอดูผอมไปมาก เนื่องจากทานอาหารไม่ได้ เพราะวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคของเธอ เธอซึ่งมีครอบครัวอันอบอุ่น สามีที่ทำงานหน้าที่ใหญ่โตในราชการไม่ยิ่งหย่อนกว่าเธอ พร้อมทั้งลูกน้อย 2 คน ที่กำลังเติบโตน่ารัก เรียนเก่ง เธอทำงานชนิดเวิร์กกอฮอลิก (Workorholic) เธอดูแลสุขภาพตัวเองมาดีตลอด สุขภาพของเธอนั้น หมายถึง สุขภาพภายนอก ผิวพรรณเธอ หน้าตาเธอ พรีเซนเตอร์ทางโทรทัศน์อาจจะชิดซ้าย

            สิบกว่าปีเศษมานี่ เธอเดินทางทำงานตลอด ด้วยความรับผิดชอบสูง เธอเจริญก้าวหน้าในทางราชการอย่างรวดเร็ว ช่วง 3-4 เดือนมานี่ เธอรูสึกผิดปกติในระบบรอบเดือน มีเลือดออกกะปริบกะปรอย ด้วยเป็นคนรักการอ่าน เธออ่านหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพมากมาย เธอเชื่อมั่นว่าน่าจะเป็นความผิดปกติของประจำเดือน ชั่วครั้งชั่วคราว อาการเธอเป็นๆ หายๆ จวบจน 1 สัปดาห์ ความผิดปกติก็รุนแรงขึ้น เธอมีเลือดออกมามากในตอนตื่นนอนตอนเช้า และไม่มีทีท่าว่าจะลดลง เธอก็ไม่ละความขยันก็ยังพยายามขับรถมาทำงาน บนถนน เธอรู้สึกถึงความผิดปกติที่รุนแรงขึ้น เลือดออกมากจนเธอเริ่มมีอาการใจสั่นคล้ายจะเป็นลม เผอิญผ่านมาหน้าโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง จึงตัดสินใจเลี้ยวเข้าห้องตรวจ สูติ-นรีแพทย์ได้เข้ามาดูแลเธอ ให้สารน้ำเข้าหลอดเลือด จากการตรวจของสูติ-นรีแพทย์ ได้แจ้งแก่เธอว่า มีเลือดออกจากแผลที่ปากมดลูกด้านล่าง ซึ่งแพทย์ได้ทำการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ และได้ทำการจี้ให้เลือดหยุด 

            จากประสบการณ์การอ่านหนังสือ เธอเริ่มไม่สบายใจกับการที่แพทย์ต้องตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ ซึ่งไม่น่าจะใช่เรื่องเล็ก แต่ในทางการแพทย์แล้วแผลก็ดี ก้อนตุ่ม ติ่งเนื้อ ที่ผิดรูป ผิดร่าง หรือผิดปกติจะต้องถูกนำมาตรวจพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา ก็คือ ต้องเอาเนื้อเยื่อมาเป็นชิ้นบางๆ แล้วเข้าขบวนการฟอกย้อมเพื่อให้ติดสี แล้วแพทย์ทางพยาธิวิทยาก็จะวินิจฉัยแผ่นชื้นเนื้อนั้น โดยเทียบกับเนื้อเยื่อปกติ ซึ่งการทำงานในส่วนนี้ ต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ร่ำเรียนกันมาเฉพาะ เราเรียกว่า พยาธิแพทย์ หรือที่ภาษาทั่วๆ ไปเรียกว่าได้ บอร์ด ซึ่งก็เทียบกับปริญญาเอกนั่นเอง คุณภาพ หรือมาตรฐานของโรงพยาบาลนั้น ดูได้จากจำนวนพยาธิแพทย์ และคุณภาพของพยาธิวิทยาเป็นปัจจัย หรือดรรชนีชี้บอกได้ เรียกได้ว่า เป็นตัววัดมาตรฐานก็ได้ 

            พยาธิแพทย์เป็นกลุ่มแพทย์ที่ เสียสละ เพราะเป็นกลุ่มคนที่ติดทองก้นพระ ทำหน้าที่เป็นกองหลัง เหมือน โปรดิวเซอร์เพลง แต่งเพลงดีอย่างไร เล่นเพลงดีอย่างไร ผลงานตกเป็นของนักร้องไปหมด พยาธิแพทย์ นอกจากดูชิ้นเนื้อ ยังต้องทำการผ่าศพ ตรวจพิสูจน์อีก บางท่านสนใจไปในทางรูปคดี ก็จะทำหน้าที่นิติเวชไปด้วย คงจำกันได้ใน ภาพยนต์ฝรั่งเรื่อง แมคเคนซี่ นั่นแหละเป็นตัวอย่างของหมอพยาธิวิทยาที่เป็นนิติเวชด้วย ช่วยตำรวจสืบคดี ชนิดพอฟัดพอเหวี่ยงกับเชอร์ล็อกโฮมทีเดียว

            การแปรผลชิ้นเนื้อ หรือการวินิจฉัยทางพยาธิ เรียกได้ว่า เป็นการตัดสินชั้นฎีกากันเลย ไม่มีอุทธรณ์แต่ทบทวนได้ถ้าสงสัย

            เธอต้องรอผลพยาธิวิทยา 2 วัน ซึ่งสองวันของเธอ ๆ ระบายว่ามันเหมือน 2 ปี เธอวิตก เธอเศร้า เธอคิดมากจนไม่สามารถที่จะหลับได้ เธอไม่สามารถจะกล้ำกลืนกินอาหารได้ หมดกำลังใจทำงาน พอครบเวลานัด เธอต้องให้สามีพาเธอไปฟังผลกับแพทย์ที่เคยดูแลเธอมา เธอได้รับคำบอกเล่าว่าเป็นเนื้องอกร้ายของปากมดลูก และเลือดที่ออกมานั้น เกิดจากการฉีกขาดของก้อนเนื้องอก ซึ่งมักจะเปื่อยยุ่ยเมื่อถูกระทบกระเทือน จากการร่วมเพศก็เลยฉีกขาด และทำให้มีเลือดออก เธอฟังคำพิพากษาอย่างเข้มแข็ง แม้จะหวาดกลัว แพทย์ได้แนะนำให้มาอยู่ในความดูแลของหน่วยมะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์สตรี หรือมะเร็งนรีเวช

            การแพทย์ปัจจุบันเป็นไปในลักษณะ แบ่งแยกการทำงานเป็นหน่วย ๆ ตามลักษณะความเชี่ยวชาญเฉพาะทางสูติ-นรีกรรม ก็แบ่งแยกเป็น 5 หน่วย เพื่อให้การดูแลคนไข้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ที่มีแพทย์จำนวนมากพอ ในทางสูติ-นรี ก็จะแบ่งเป็นหน่วยปริกำเนิด ดูแลคนตั้งครรภ์ การคลอด หน่วยโรคติดเชื้อทางสูติ-นรีกรรม ก็ดูแลเรื่องการอักเสบ การติดเชื้อจุลินทรีย์ทุกชนิด ทั้งคนท้องคนไม่ท้อง เป็นหน่วยที่ทำงานหนัก เพราะต้องดูแลโรคเอดส์ในสตรีด้วย หน่วยวางแผนครอบครัว หน่วยนี้ทำได้ผลดีมากทั้งประเทศ

            ปัจจุบันประชากรไทยลดลงเกินเป้าหมาย กำลังเป็นที่วิตกว่าสัดส่วนประชากรใน 10-20 ปีข้างหน้า จะเป็นแบบรูปสามเหลี่ยมหัวกลับ คือ คนสูงอายุเป็นประชากรส่วนใหญ่ ปลายแหลมของสามเหลี่ยมเป็นประชากรเด็ก และประชากรวัยทำงานอยู่ตรงกลาง ก็เกิดเสี้ยวเล็กกว่าคนสูงอายุ จะก่อให้เกิดปัญหาในแง่เศรษฐกิจได้ ดูซิทำงานได้ผลดีก็เกิดผลกระทบ หน่วยชีววิทยาการเจริญพันธุ์ เป็นหน่วยที่กำลังฮิตเพราะเป็นหน่วยสร้างทารกก็ว่าได้ พวกเด็กหลอดแก้ว ผสมเทียม อุ้มบุญ ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยนี้ 

            ในอนาคตอาจจะถึงขั้นทำสำเนามนุษย์ หรือโคลนนิ่ง (Clonning) ไม่เท่านั้นหน่วยนี้ ยังดูแลคนไข้สตรีสูงวัย หรือ ทำหน้าที่ดูแลพวกสตรีที่เกษียณฮอร์โมน คือ กลุ่มสตรีที่รังไข่ไม่ทำงาน อาจจะจากธรรมชาติ คือ วัดหมดระดู และพวกที่แพทย์ทำให้เกิดขึ้น เช่น จากการผ่าตัด ด้วยสาเหตุใด ๆ ก็ตามที่มีการทำลายรังไข่ ไม่ว่าจากการผ่าตัดธรรมดา หรือผ่าตัดโรคมะเร็ง หรือจากผลของการรักษา เช่น การฉายแสง เป็นต้น ก็ดูแลโดยหน่วยนี้ 

            คงคุ้นกับคำว่า คลินิกวัยทอง ซึ่งปัจจุบันกำลังถูกบรรจุอยู่ในแผนการทางlาธารณสุขของชาติ เพราะประชากรสูงวัยจะเพิ่มขึ้นมากสะสมไปตลอด ยิ่งปัจจุบันการสาธารณสุขที่พัฒนาไปมากอายุขัยเฉลี่ยของสตรีไทยใกล้ 75 ปีเข้าไปทุกที คลินิกวัยทองเลยต้องทำงานหนัก คนไข้จะเพิ่มมากทุกที จุดมุ่งหมายของคลินิกนี้ ก็เพื่อดูแลให้ผู้สูงวัยสตรีมีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี 

            หน่วยสุดท้ายคือ หน่วยมะเร็งนรีเวช หรือ มะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์สตรี ชื่อก็บอกแล้วว่าดูแลโรคเนื้องอกแพทย์ ที่จะเข้ามาทำงานเฉพาะทางเหล่านี้ ต้องได้รับการศึกษาอบรมเพิ่มเติม ไม่ใช่จบแพทย์ศาสตร์ธรรมดาก็มาทำได้ ต้องผ่านการฝึกฝนอบรมเล่าเรียนอีกไม่ต่ำกว่า 5 ปี อย่างน้อย เรียกว่าใช้เวลานานกว่าอาชีพอื่น ๆ แพทย์หน่วยมะเร็งนรีเวช ค่อนข้างจะทำงานหนักทีเดียว เพราะโรคนี้นับวันจะเพิ่มมากขึ้น โลกเจริญขึ้น ตัวโรคก็พบมากขึ้น (บางชนิด) แต่ละประเทศก็จะพบความชุกของโรคไม่เหมือนกัน

            ในไทยเราโรคมะเร็งปากมดลูก อย่างที่คุณเธอผู้นี้เป็น เป็นโรคอันดับหนึ่งของหน่วยมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ ที่ต้องดูแลเมื่อเธอมาพบเนื่องจากถูกส่งตัวมา การดูแลเบื้องต้นก็คือ ต้องทำการค้นหาขอบเขตของโรค หรือความรุนแรงของโรค เพื่อจะได้วางแผนการรักษาให้เหมาะสม การซักประวัติตรวจร่างกายอย่างละเอียด แต่ขณะเดียวกันในคนไข้กลุ่มนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจมากมายเพราะ อยู่ ๆ ก็ถูกตัดสิน ที่คนไข้ทั่ว ๆ ไปก็เข้าใจว่า เป็นการตัดสินประหารชีวิตทีเดียว ทั้งที่ในความจริงไม่ใช่ ความเข้าใจที่ว่าโรคมะเร็งรักษาไม่ได้ เป็นภาพหลอนที่ติดมากับสังคม

            ตั้งแต่อดีตกาลที่การแพทย์ยังไม่เจริญ การตรวจวินิจฉัยโรคแต่เนิ่นๆ เป็นไปได้ลำบากกว่าจะวินิจฉัยได้ โรคก็ลุกลามไปมาก แพทย์ก็สู้รบแพ้ในสนามรบ (สนามโรค) ระยะหลัง ๆ นั้น แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายที่จะช่วยให้การรักษาได้ผลดี คนไข้กลุ่มนี้มักมีภาวะซึมเศร้าวิตกกังวล และสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง ต้องมีทีมงานที่ทำงานควบคู่ไปทางจิตเวช การรักษาโรคมะเร็งโดยเฉพาะ มะเร็งปากมดลูกนั้น การวินิจฉัยโรคสำคัญมาก หมายถึงการ รู้ถึงความรุนแรง หรือการแพร่กระจายของโรค เพราะการรักษามีขั้นตอนที่สมบูรณ์รองรับอยู่แล้ว หลักการคือ การให้การรักษาหลักด้วย 2 วิธี คือ ผ่าตัดหรือฉายแสง ซึ่งได้ผลใกล้เคียงกัน แต่ผลแทรกซ้อนต่างกันในระยะแรก ๆ แต่ถ้าระยะที่โรคลุกลามแล้วการฉายแสง หรือรังสีรักษาจะได้ผลดี 

            มะเร็งปากมดลูกนั้น เป็นโรคที่ค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉลี่ยใช้เวลามากกว่า 5 ปี อย่างน้อย กว่าที่โรคจะลุกลามออกนอกตัวปากมดลูก และแพทย์สามารถตรวจสอบหาความผิดปกติ ก่อนที่จะเป็นมะเร็งได้ เพราะปากมดลูกเป็นอวัยวะภายในช่องคลอด ที่แพทย์เข้าถึงได้ง่าย เป็นที่น่าเสียดายเธอผู้นี้ ไม่ได้มาตรวจค้นกับแพทย์ในการทำ แป๊ปเสมียร์ ซึ่งเป็นการตรวจค้นหาก่อนการเป็นมะเร็งที่ง่าย และรวดเร็วไม่เจ็บปวด จนทางทฤษฎีถือว่า โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการทำแป๊ปเสมียร์ ซึ่งขบวนการตรวจ ใช้เวลาไม่เกิน 3 นาทีเท่านั้น เธออาย!! จึงเกิดบั้นปลายที่น่าเศร้า เธออายมา 10 กว่าปี 

            เมื่อสอบถามให้ละเอียดก็พบว่าเธอ มีอาการผิดปกติมานานแล้ว เธอมีอาการผิดปกติ เลือดออกทางช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์เป็น ๆ หาย ๆ มาหลายปีประมาณ 4-5 ปี ตามมาด้วย มีตกขาวผิดปกติเป็น ๆ หาย ๆ ก็ซื้อยาสอดใส่เองกลบอาการไป เพราะยาเหน็บ ยาสอดนั้นถ้าใช้ไม่ถูกต้อง ตัวยาสอดจะมีลักษณะคล้ายแป้งอัดเม็ด ก็จะดูดซึมเอาตกขาวเข้าไว้ก่อนละลายทำให้หลอกว่าตกขาวหยุด คำถามที่เธอถามซึ่งแพทย์จะต้องพบเสมอ ๆ ซึ่งเมื่อตอบแล้ว ก็ยิ่งตอกย้ำความเศร้าให้คนไข้ก็คือ "เป็นมานานหรือยัง?" จากการตรวจภายใน ภายใต้การให้ยาระงับความรู้สึก เพื่อดูการลุกลามของมะเร็งปากมดลูก ปรากฏว่าเธอเริ่มมีการลุกลามไปยังเอ็นปีกมดลูก ซึ่งทำให้เธอมีอาการปวดหลัง เป็น ๆ หาย ๆ ตลอดมา ปัจจุบันการใช้การตรวจวินิจฉัย ด้วยรังสีวินิจฉัย หรือที่เรียกว่า เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อดูการลุกลามแพร่กระจาย รวมทั้งการกระจายไปต่อมน้ำเหลือง ได้ก็ปรากฏว่าต่อมน้ำเหลืองของช่องเชิงกราน คือ ว่ามีการแพร่กระจายไป เท่านั้นไม่เพียงพอ จะต้องทำการส่งส่องกล้อง ตรวจดูในกระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ตรงท่ออุจจาระเพื่อดูว่ามีการลุกลามไปหรือไม่ การตรวจดูท่อไต ด้วยการเอกซเรย์ฉีดสีดูท่อไตก็เป็นการตรวจวินิจฉัย รวมแล้วต้องตรวจเลือดดูว่า มีความบกพร่องในระบบใดบ้าง เพราะมะเร็งมักจะมีผลต่ออวัยวะอื่น ๆ โดยเฉพาะระบบเม็ดเลือด เพราะมะเร็งจะมีการสูญเสียเลือด รวมทั้งมะเร็งจะทำให้คนไข้ทุพโภชนา เพราะเซลล์มะเร็งจะปล่อยสารบางอย่างออกมา ทำให้รบกวน การต้องการอาหาร และตัวมันเองก็ยังแย่งสารอาหารมาจากร่างกาย จากเซลล์ปกติอีก ผลการตรวจที่มากมายแทบทุกระบบ ก็จะถูกนำมาประมวล และแพทย์ในหน่วยมะเร็งนรีเวช ก็จะมาประชุมวางแผนการรักษาร่วมกับแพทย์อื่น ๆ ที่สำคัญ คือรังสีแพทย์ และพยาธิแพทย์ 

            จากข้อมูลเธอเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม จึงตอบคำถามเธอได้ว่า อย่างน้อยควรจะเป็นโรคนี้มาไม่ต่ำกว่า 5-7 ปี ยิ่งทำให้คนไข้เศร้าใจ เสียใจที่เธอปล่อยนาทีทองให้สูญเสียไปเมื่อ 7 ปีก่อนเป็นอย่างน้อย เธอได้เข้าร่วมปรึกษาแนะนำกับทีมแพทย์ ถึงวิธีการรักษาซึ่งการฉายแสง เป็นวิธีรักษาที่เหมาะสม และได้ผลดีที่สุด การผ่าตัดจะไม่ได้ผลในระยะนี้ แถมยังทำให้เกิดผลแทรกซ้อนที่ไม่พึงปรารถนา และไม่สามารถรักษาโรคได้ คำถามก็ตามมาอีกว่า "ฉายแสงรักษา ก็หมายความว่าเป็นการประทังโรคเท่านั้นหรือ" ทัศนคติของสังคมต่อการฉายแสงติดมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ที่เคยพบเคยเห็น ซึ่งปัจจุบันต่างกันมาก การรักษาด้วยการฉายแสง เป็นการรักษามุ่งหายกันเลย

            และในทางการแพทย์นั้น เป็นอนุภาคเล็กมากกว่าไวรัสเอดส์ ที่ว่าเล็กแล้วมองไม่เห็นมี 3 ชนิดใหญ่ ๆ สมัยก่อนใช้จากสารกัมมันตรังสี พวกเรเดียมโคบอล ที่ใช้ทำระเบิดปรมาณู ปัจจุบันก็มีใช้แต่พัฒนาไปมากจนถึงปัจจุบันเรียกว่า เป็นเครื่องเร่งอนุภาค คือ ปั่นอนุภาคแสงจน มีความเร็วสูงมาก ๆ แล้วยิ่งเข้าไปยังก้อนมะเร็งเมื่ออนุภาค มีความเร็วสูงวิ่งผ่านมะเร็ง ก็จะไม่ค่อยเกิดผลทำลายเหมือนปืนที่มีความเร็วสูงทางเข้าสู่ร่างกายแผลจะเล็กมาก ทางออกต่างหากที่จะถูกทำลายแผลใหญ่ ฉันใดก็ฉันนั้น อนุภาคแสงถูกตั้งระยะให้วิ่งไป กระทบเป้าหมายคือ ที่ปากมดลูกที่มีก้อนมะเร็งอยู่ และตำแหน่งที่ลุกลามไป ดังนั้นรังสีแพทย์จึงต้องทำการตรวจวัดหาระยะ และพื้นที่ที่จะฉายแสงแล้วตีเส้นด้วยสีน้ำเงิน หรือน้ำตาลไว้เป็นที่สังเกต อนุภาคของรังสีที่ถูกฉายเข้าสู่ก้อนมะเร็งนั้นจะออกฤทธิ์ตลอดทาง แต่ที่เป้าหมายจะออกฤทธิ์มากที่สุด โดยอนุภาคจะส่ง หรือรังสีจะไปทำปฏิกิริยากับ ออกซิเจนบริเวณนั้น เกิดเป็นอนุมูลขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นพิษต่อเซลล์ ต่อหน่วยพันธุกรรมของเซลล์ ทั้งมะเร็ง ทั้งเซลล์ปกติก็ถูกกระทำเหมือนกัน แต่เซลล์ปกติจะใช้เวลาสั้นใน การซ่อมแซม ความผิดปกติให้เข้าสู่สภาพปกติ แล้วจึงแบ่งเซลล์ แต่เซลล์มะเร็งจะไปซ่อมแซมแบ่งตัวต่อ ๆ ไป เซลล์ก็จะผิดรูปร่างและตายไปในที่สุด การฉายแสงนั้นจะค่อย ๆ ฉายแต่ละวัน ๆ ค่อย ๆ ทำลายเซลล์มะเร็งที่ละน้อย และชะลอเวลาให้เซลล์ปกติฟื้นคืนสภาพฉายประมาณ 4 สัปดาห์ 

            เท่านั้นยังไม่เพียงพอ เพื่อให้ก้อนมะเร็งได้อนุภาครังสีมากที่สุด ก็จะใส่แร่ที่ให้อนุภาครังสีเข้าไปวางไว้ที่ปากมดลูก เรียกว่า การสอดใส่แร่ ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่า ฝังแร่ ทำให้ฟังดูน่ากลัวจนจนร่ำลือกันว่า ฝังแร่เสร็จก็ฝังศพต่อ เชื่อผิด ๆ มาตลอด การสอดใส่แร่จะใช้เวลาประมาณ 48-72 ชม. โดยในขั้นตอนนี้เธอจะได้อยู่ในห้องที่จัดทำพิเศษกันรังสีแพร่กระจาย มีสายระโยงระยางที่จะเป็นตัวนำสารสร้างรังสีเข้าไปใส่ไว้ที่ปากมดลูก และจะต้องใส่ผ้า เพื่อกันแร่ให้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการไม่ให้เกิดอันตรายต่อกระเพาะปัสสาวะที่อยู่ข้างหน้ามดลูกและลำไส้ตรง และ เธอจะถูกบังคับให้นอนนิ่ง ๆ บนเตียงพิเศษ เธอจะต้องต่อท่อปัสสาวะเข้ากระเพาะปัสสาวะ และให้ยาระงับการขับถ่ายอุจจาระ เธอจะติดต่อกับบุคคลภายนอกด้วยไมโครโฟน และทีวีวงจรปิด เมื่อครบเวลานั้นก็ถือว่าเป็น การรักษาที่ครบครัน ใน 4-8 สัปดาห์ ต่อมาก้อนมะเร็งก็จะฝ่อเล็กลง เธอได้รับคำอธิบายถึงขั้นตอนการรักษา และการดูแลตัวเอง พร้อมทั้งให้หนังสือคู่มือปฏิบัติตัวไปศึกษาตลอดการรักษา เธอจะต้องได้รับการตรวจตราร่างกายเป็นระยะ ๆ เพื่อแก้ไขผลแทรกซ้อนเล็ก ๆ น้อย ๆ จากการรักษา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังเข้มขึ้น จากการกระทำของอนุภาครังสี 

            ปัจจุบันเรายังมียาเคมีบำบัด ซึ่งอาจจะให้ร่วมกับการ ฉายแสง ถ้ามีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เพื่อเร่งให้เกิดอนุมูล พิษต่อมะเร็งมากขึ้นอีกได้ การที่เธอได้รับรู้ข้อมูลทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับเธอ ทั้งเรื่องของโรคและขั้นตอนการรักษา ทำให้เธอดีขึ้นมีความหวังมากขึ้นยิ่ง เมื่อทราบว่ามีโอกาสหายในระยะของเธอนั้นสูงถึง 70% ถ้าร่วมกันอย่างดี ตอนนี้ก็ต้องรอติอตามว่าผลรับ ของสนามรบสนามโรคนี้ เราจะเอาชนะได้หรือไม่ หรือจะแค่ตั้งยันตั้งรับ แต่เรามีความมั่นใจในชัยชนะ ที่จะมาถึงนั้น มาคอยดูกันเถิด

 

    

 

/ มะเร็งในระบบประสาท / มะเร็งของกระดูก / มะเร็งช่องปาก / มะเร็งกล่องเสียง

/ มะเร็งต่อมธัยรอยด์ / มะเร็งต่อมน้ำเหลือง / มะเร็งตับ / มะเร็งตับอ่อน / มะเร็งปากมดลูก /

/ มะเร็งมดลูก / มะเร็งรังไข่ / มะเร็งเต้านม / มะเร็งปอด / มะเร็งผิวหนัง /

/ มะเร็งต่อมลูกหมาก / มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก / มะเร็งเม็ดเลือดขาว /

/ มะเร็งถุงน้ำดีและท่อน้ำดี /