Picture

   มะเร็งช่องปาก  

          มะเร็งในช่องปากเป็นได้ตั้งแต่ริมฝีปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม กระดูกขากรรไกร เหงือก พื้นปาก เพดานแข็ง และส่วนบนของลำคอ

            มะเร็งในช่องปากมักพบในคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และพบน้อยลงหลังจากอายุ 60 ปีไปแล้ว แต่ปัจจุบันนี้ประชากรผู้สูงอายุมีมากขึ้นอาจจะพบมะเร็งในช่องปากในผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นได้ และมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อาจจะเป็นเพราะผู้ชายมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่า

ปัจจัยเสี่ยง
           
1. 90% ของผู้ป่วยมะเร็งในช่องปากเป็นผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ผู้ที่สูบบุหรี่ และดื่มสุรา จะมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และดื่มสุรา 15 เท่า รวมทั้งการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ร้อนจัดเกินไป เพราะความร้อนที่มาจากอาหาร ควันบุหรี่ และแอลกอฮอล์ จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก เมื่อถูกระคายเคืองอยู่เป็นประจำ ทำให้เนื้อเยื่อเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และอาจทำให้กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ เนื้อเยื่อที่มักมีผลกระทบจาก ความร้อน คือบริเวณกระพุ้งแก้ม เพดาน และลำคอ ผู้ที่สูบบุหรี่จัดมักเป็นมะเร็งบริเวณกระพุ้งแก้ม หรือเพดาน ส่วนผู้ที่รับประทานอาหารร้อนจัด และดื่มสุราจะมีโอกาสเป็นมะเร็งในช่องปากมากกว่าคนทั่วไป 2 เท่า แต่ถ้าเป็นผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นมะเร็งในช่องปากได้สูงกว่าผู้ชายที่มีพฤติกรรมเดียวกันถึง 3 เท่า ความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งจะเพิ่มตามจำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวัน และจำนวนปีที่สูบ การดื่มสุราก็เช่นกันขึ้นกับปริมาณที่ดื่ม ยิ่งดื่มมากโอกาสเสี่ยงก็มีมากขึ้น คนที่สูบบุหรี่ ซิการ์ หรือไปป์ และคาบบุหรี่หรือไปป์ตลอดเวลา ความร้อนที่เกิดอาจทำให้เกิดมะเร็งที่ริมฝีปากได้ การสูบบุหรี่ และดื่มสุราเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งช่องปากมากที่สุด ถ้าท่านเลิกสูบบุหรี่ ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งช่องปากจะลดลงอย่างรวดเร็ว และภายหลังเลิกแล้ว 10 ปี ความเสี่ยงจะเหมือนผู้ที่ไม่เคยสูบุหรี่มาก่อน
   
         2. หมากพลู มีสารก่อมะเร็ง ผู้ที่กินหมาก และอมหมากไว้ที่กระพุ้งแก้มเป็นประจำ ปูนที่ใช้ทานกับหมากจะกัดเนื้อเยื่อในช่องปาก และเกิดการระคายเคืองจากความแข็งของหมากที่เคี้ยว ก็อาจทำให้เซลล์ของเนื้อเยื่อกระพุ้งแก้มเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ การระคายเคืองจากฟันที่แหลมคมผู้ที่ที่มีฟันแตก ฟันบิ่น ขอบฟันที่คม จะบาดเนื้อเยื่อในช่องปาก โดยเฉพาะกระพุ้งแก้มและลิ้น ทำให้เป็นแผลเรื้อรังอยู่นาน ๆ แผลนั้นอาจกลายเป็นมะเร็งได้ โดยเฉพาะผู้ที่สุขภาพในช่องปากไม่ดี แปรงฟันไม่สะอาด มีหินปูน และคราบฟัน จะมีส่วนทำให้แผลกลายได้ง่ายขึ้น
            3. แสงแดดทำให้เกิดมะเร็งที่บริเวณริมฝีปาก
            4.
การละเลยต่อสุขภาพในช่องปาก

            ดังนั้นจึงควรตรวจเช็กสุขภาพช่องปากเป็นประจำปีละ 2 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อสุขภาพของเนื้อเยื่อ และตรวจเช็กฟัน ถ้ามีความผิดปกติจะได้รักษาเสียแต่เนิ่นๆ

            อย่างไรก็ตาม การป้องกันไม่ให้เกิดโรคเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ท่านได้ทราบปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคแล้ว ควรเลิกสิ่งที่เป็นความเสี่ยงนั้น อาหารเพื่อสุขภาพสามารถป้องกันโรคมะเร็งช่องปากได้ ผลไม้สดจะช่วยลดความเสี่ยงได้โดยเฉพาะวิตามิน A C และ E จึงควรรับประทานผลไม้สด และผักใบเขียวมากๆ และหมั่นตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำทุก 6 เดือน ท่านก็จะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งช่องปากน้อยลง

สิ่งผิดปกติที่ควรปรึกษาแพทย์ 
   
       1. มีตุ่ม หรือก้อนเกิดขึ้นบริเวณใต้คาง คอ และบวมโตขึ้น
            2. มีการอักเสบเรื้อรังในช่องปาก ไม่หายภายใน 3 สัปดาห์ 
            3. มีฝ้าขาวลักษณะเป็นรอยนูนในช่องปาก 
            4. มีแผลบนเหงือก และฟันโยก อาจมีฟันผุร่วมด้วย หรือไม่มีก็ได้ 
            5. มีแผลที่ลิ้นเรื้อรังไม่หายเจ็บ ควรปรึกษาแพทย์ 

การป้องกัน
           
1. ควรแปรงฟันให้ถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 - 5 นาที 
            2. ควรบ้วนปากหลังรับประทานอาหารทันที และทุกครั้ง
            3. ควรล้างฟันปลอมชนิดถอดได้หลังรับประทานอาหารทุกครั้ง โดยเฉพาะบริเวณตะขอ และควรถอดออกเวลากลางคืน
            4. ควรรับประทานอาหารเนื้อหยาบ เพื่อช่วยในการทำความสะอาดฟันด้วย ได้แก่ ผัก และผลไม้ เช่น ก้าน ผัก ฝรั่ง มันแกว ฯลฯ
            5. ควรใช้ฟันทุกซี่เคี่ยวอาหาร ไม่ควรถนัดเคี้ยวข้างเดียว เพื่อให้เหงือกและฟันแข็งแรง
            6. ควรไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจหาสิ่งผิดปกติ ถึงแม้จะไม่มีอาการเจ็บปวดก็ตาม
            7. ควรงดสิ่งเสพติด ได้แก่ เหล้า บุหรี่ ยาฉุน และหมากพลู 
            8. ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย 
            9. ควรใช้ยาตามทันตแพทย์ และแพทย์สั่งเพื่อผลการรักษาที่ดี และป้องกันการดื้อยา

อาการ
           
1. เริ่มด้วยมีแผลในช่องปากรักษาไม่หายเป็นเวลานานเกิน 3 สัปดาห์ขึ้นไป และไม่เจ็บปวด
            2. มีฝ้าขาวในช่องปาก ร่วมกับตุ่มนูนบนเยื่อบุช่องปาก และลิ้น
           
3. มีก้อนไม่รู้สึกเจ็บในช่องปาก โตเร็ว และในที่สุดแตกออกเป็นแผล
           
4. ต่อมามีก้อนที่คอเกิดขึ้น กดไม่เจ็บ บวมโตขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งแตกออกเป็นแผล

การวินิจฉัย
           
การตรวจวินิจฉัยมีหลายวิธี แต่ที่แน่นอนคือ การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ 

การรักษา
           
ประเมินขั้นความรุนแรงของโรคโดยการตรวจเลือด, ปัสสาวะ, เอ็กซเรย์ ฯลฯ การรักษาโดยใช้การผ่าตัด, การฉายแสง, การให้เคมีบำบัดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

หากท่านสงสัยมีอาการดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์การรักษามะเร็งในระยะเริ่มแรกได้ผลดี

 

    

 

/ มะเร็งในระบบประสาท / มะเร็งของกระดูก / มะเร็งช่องปาก / มะเร็งกล่องเสียง

/ มะเร็งต่อมธัยรอยด์ / มะเร็งต่อมน้ำเหลือง / มะเร็งตับ / มะเร็งตับอ่อน / มะเร็งปากมดลูก /

/ มะเร็งมดลูก / มะเร็งรังไข่ / มะเร็งเต้านม / มะเร็งปอด / มะเร็งผิวหนัง /

/ มะเร็งต่อมลูกหมาก / มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก / มะเร็งเม็ดเลือดขาว /

/ มะเร็งถุงน้ำดีและท่อน้ำดี /