Picture

   มะเร็งเต้านม (Breast Cancer)  

            มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทยเป็นที่สองรองจากมะเร็งปากมดลูก มักเกิดในหญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป และพบมากในหญิงที่ไม่มีบุตร หรือมีบุตรน้อย และในผู้ที่มีประวัติญาติพี่น้องเคยเป็นมะเร็งเต้านม หญิงอายุน้อย หรือชายก็อาจเป็นมะเร็งเต้านมได้ แต่พบได้น้อย 

สาเหตุการเกิดโรค
           
ยังไม่ทราบแน่นอน แต่ในทางระบาดวิทยาอาหารไขมันสูง มีส่วนทำให้เกิดโรคได้ ตำแหน่งเกิดของมะเร็งเต้านม มักเป็นที่ส่วนบนด้านนอกของเต้านมมากกว่าส่วนอื่น

ลักษณะอาการของโรค
           
1. เริ่มจากการคลำก้อนไม่ได้จนถึงมีก้อนเล็กๆ ขึ้นที่เต้านม ส่วนมากจะไม่มีอาการเจ็บปวด
            2.
ก้อนจะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เต้านมมีลักษณะผิดไป อาจทำให้เต้านมใหญ่ขึ้น หรือบางชนิดทำให้เต้านมแข็ง หดตัวเล็ก หรือแบนลงได้ ก้อนมะเร็งอาจจะรั้งให้หัวนมบุ๋มเข้าไปจากระดับเดิม หรือทำให้ผิวหนังบริเวณเต้านมมีลักษณะหยาบ และขรุขระ บางรายเมื่อบีบบริเวณหัวนมจะมีน้ำเหลือง หรือเลือดไหลซึมออกมา มะเร็งจะลุกลามแพร่กระจายจากตำแหน่งที่เกิดได้อย่างรวดเร็วไปตามหลอดเลือด และน้ำเหลืองสู่อวัยวะอื่นๆ 
            3.
บริเวณที่พบการแพร่กระจายได้เร็ว และบ่อยที่สุด ได้แก่ ต่อมน้ำเหลือง ที่รักแร้ 
   
         4. ในรายที่เป็นมากแล้ว เนื้อมะเร็งบางส่วนจะเน่าตาย ทำให้เกิดเป็นแผลขยายกว้างออกไป และมีกลิ่นเหม็นจัด 

การตรวจวินิจฉัยและรักษา
           
1.
การตรวจพบ และรักษามะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะมีโอกาสหายขาดได้ 
            2.
การตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้งเป็นประจำ หลังหมดประจำเดือน 7 วัน และการตรวจโดยเอ็กซเรย์เต้านม ช่วยให้พบความผิดปกติ หรือก้อนมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก
            3.
การรักษานั้น อาจทำโดยการผ่าตัดการบำบัดทางรังสี และการใช้ยาสังเคราะห์บางประเภท ทั้งนี้อาจจะให้การรักษาโดยวิธีการเดียว หรือร่วมกันไปก็ได้ ขึ้นอยู่กับผลการตรวจพิเศษของชิ้นเนื้อมะเร็ง และต่อมน้ำเหลืองที่ผ่าตัดออกมา

ข้อพึงปฏิบัติ 
           
1. ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้งเป็นประจำ หลังหมดประจำเดือน 7 วัน หากพบก้อน หรือสิ่งผิดปกติใดๆ  ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
            2.
เมื่ออายุประมาณ 35 ปี ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย รวมทั้งทำ mammogram เป็นการ x-ray เพื่อ check เต้านม ทำปีละครั้งไปเรื่อยๆ ทุกปี 
            3.
ให้ความร่วมมือในการรักษา อย่าหลงเชื่อ และเสียเวลาไปกับการรักษาโรคมะเร็ง ด้วยวิธีการทางไสยศาสตร์ และยากลางบ้าน เพราะมะเร็งนั้นจะโตขึ้นเรื่อยๆ โอกาสที่จะหายขาดจะลดลงทุกขณะ
            4.
พึงระลึกเสมอว่า มะเร็งของเต้านม หรืออวัยวะใดก็ตาม ถ้าได้รับการรักษาในระยะเริ่มต้นเร็วเท่าไร ความหวังที่โรคจะหายขาดก็ยิ่งมีมากขึ้นเพียงนั้น

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง

            โดยทั่วไปแล้ว สตรีมักจะพบสิ่งผิดปกติของเต้านมได้ด้วยตนเอง ก่อนที่จะไปพบแพทย์ โดยเฉพาะการพบก้อน ตุ่ม หรือไตแข็งผิดปกติที่เต้านม ดังนั้น โปรดอย่างนิ่งนอนใจ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะหากเป็นเนื้อร้าย หรือมะเร็งเต้านมจะได้รับการรักษาทันท่วงที พึงจำไว้ว่ายิ่งพบความผิดปกติได้เร็วเพียงไร โอกาสในการักษาให้หายขาด และปลอดภัยก็มีมากขึ้นเพียงนั้น วิธีที่จะช่วยให้สตรีได้พบสิ่งผิดปกติของเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก คือ การตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้ง ในระยะหลังจากหมดประจำเดือนประมาณ 7 วัน ไม่ควรตรวจในช่วงที่เต้านมคัดตึง เพราะการตรวจอาจผิดพลาดได้ 

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ทำดังนี้ 
            ขั้นที่ 1 ตรวจในขณะอาบน้ำ 

Pictureขณะอาบน้ำเป็นระยะเวลาที่ผิวหนังเปียก และลื่นจะทำให้การตรวจง่ายขึ้น การตรวจทำโดยใช้ปลายนิ้วมือวางราบบนเต้านม คลำ และเคลื่อนนิ้วมือในลักษณะคลึงเบาๆ ให้ทั่วทุกส่วนของเต้านม เพื่อค้นหาก้อน หรือเนื้อที่แข็งเป็นไตผิดปกติ หลังอาบน้ำแล้วจึงทำการตรวจเต้านมขั้นต่อไป

            ขั้นที่ 2 การตรวจหน้ากระจก

Picture

ก. ยืนตรงมือแนบลำตัว แล้วยกแขนขึ้นสูงเหนือศีรษะ สังเกตลักษณะของเต้านม เพราะการเคลื่อนยกแขนขึ้นนั้น จะสามารถมองเห็นความผิดปกติได้ 

 

  Picture


ข. ยกมือท้าวเอว เอามือกดสะโพกแรงๆ เพื่อให้เกิดการเกร็ง และหดตัวของกล้ามเนื้ออก สังเกตดูลักษณะที่ผิดปกติ 

 

            ขั้นที่ 3 การตรวจในท่านอน

   Picture                    Picture                    Picture

                                ภาพที่ 1                                    ภาพที่ 2                                    ภาพที่ 3

            นอนราบ และยกมือข้างหนึ่งไว้ใต้ศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งตรวจคลำให้ทั่วทุกส่วนของเต้านม (ภาพที่ 1, 2  และ 3) โดยเริ่มต้นที่จุดบริเวณส่วนนอกเหนือสุดของเต้านม (จุด X ในภาพ) เวียนไปโดยรอบเต้านม แล้วเคลื่อนมือเขยิบเข้ามาเป็นวงแคบเข้าจนถึงบริเวณหัวนม จากนั้นค่อยๆ บีบหัวนมโดยใช้นิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้ เพื่อสังเกตดูว่ามีน้ำเลือด น้ำหนอง หรือน้ำใสๆ อื่นใดออกมาหรือไม่ เสร็จแล้ว ตรวจเต้านมอีกข้างหนึ่งในลักษณะเดียวกัน

ผู้หญิงกับมะเร็งเต้านม

            มะเร็งเต้านม เป็นโรคที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของผู้หญิงทั่วโลก ในแต่ละปี จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก วงการแพทย์ยังไม่ทราบว่ามะเร็งเต้านมเกิดจากสาเหตุใด แต่มีข้อมูลที่น่าสนใจว่ามะเร็งเต้านมพบในผู้หญิงสูงอายุมากกว่าผู้หญิงสาว ในบางรายอาจจะเกิดจากพันธุกรรมก็ได้ เนื่องจากมะเร็งเต้านมเป็นปัญหาสำคัญของสตรีทั่วโลก จึงข้อนำเรื่องมะเร็งเต้านมในผู้หญิงไทย และผู้หญิงอเมริกันมาเล่าสู่กันฟังครับ

มะเร็งเต้านมในผู้หญิงไทย
           
ในปัจจุบัน ผู้หญิงไทยได้ให้ความสนใจในเรื่องโรคมะเร็งเต้านมมากขึ้น เพราะเป็นโรคอันดับสองที่ทำให้ผู้หญิงไทยเสียชีวิตในแต่ละปี (โรคอันดับแรก ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก) จึงได้มีการจัดตั้งมูลนิธิกันยรักษ์ขึ้น เพื่อให้การดูแลรักษาเกี่ยวกับโรคนี้ มูลนิธิดังกล่าว เป็นมูลนิธิสุดท้ายที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงก่อตั้ง และรับเป็นองค์อุปถัมภ์ มีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยให้ผู้หญิงไทยพ้นภัยจากมะเร็งเต้านม

             โดยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงที่จะมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมนั้น มักจะมีอาการปรากฏแล้ว ทำให้ยากต่อการรักษา บางรายอาจมีอาการรุนแรงจนเสียชีวิตได้ วิธีการที่ดีที่สุดก็คือ ต้องเร่งให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง เพื่อหาความผิดปกติในเบื้องต้นก่อนที่อาการของโรคจะลุกลาม โดยผู้หญิงที่ควรจะเริ่มตรวจมะเร็งเต้านมจะมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป รวมทั้งอยู่ในสภาพที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ได้แก่ ผู้ที่มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี หรืออายุ 45 ปี แล้วยังไม่หมดประจำเดือน ผู้ที่มีลูกคนแรกเมื่ออายุเกิน 35 ปี หรือคนอ้วนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป ฯลฯ การตรวจดังกล่าว ก็เพื่อจะได้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของเต้านมตนเอง

            การตรวจเต้านมตนเอง ควรจะเริ่มหลังจากมีประจำเดือน 7-10 วัน โดยการคลำเต้านมตนเองดูว่า มีก้อนผิดปกติหรือไม่ ถ้าหากตรวจพบก้อนที่เต้านมแล้ว อีก 1-2 เดือน ต่อมาก้อนนี้มีขนาดใหญ่ขึ้น ก็อาจสงสัยได้ว่า เป็นมะเร็งเต้านม หรือตรวจเต้านมมาตลอดแล้วไม่พบอะไรเลย ในระยะเวลาต่อมา ก็ตรวจพบก้อนที่เต้านม ก็ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวิเคราะห์ต่อไป การที่ได้มีการตรวจเต้านมตนเองอยู่เสมอๆ เป็นหลักการสำคัญในการป้องกันโรคมะเร็งเต้านม และช่วยให้การรักษาได้ผลดี 

            มะเร็งเต้านมเป็นโรคร้ายสำหรับผู้หญิงไทย ถ้าหากได้มีการตรวจวิเคราะห์พบความผิดปกติ ที่เกิดขึ้นในระยะแรกๆ ก็จะสามารถรักษาได้ง่าย และช่วยให้มีโอกาสรอดจากการเสียชีวิตได้ด้วยครับ

มะเร็งเต้านมในผู้หญิงอเมริกัน
           
สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีประชากรหญิงเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมมาก เป็นอันดับหนึ่งของโลก ทั้งๆ ที่ในอดีตเมื่อ 60-70 ปีที่แล้ว ผู้หญิงอเมริกันเป็นโรคมะเร็งเต้านมในอัตราที่ต่ำมาก ได้มีการวิเคราะห์หาสาเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงกันมากมาย ได้ข้อมูลที่คาดว่าจะเป็นสาเหตุ ให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม ดังนี้ 
            1. อาหาร ชาวอเมริกันในปัจจุบันจะรับประทานอาหารที่มีไขมันมากขึ้น จึงเชื่อว่า อาหารไขมันนี้จะเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม แต่ก็มีข้อมูลจากการทดลองที่ขัดแย้งกับเรื่องนี้ โดยได้มีการทดลองในอาสาสมัครพยาบาลจำนวนมากกว่า 8,000 คน จำแนกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทานอาหารที่มีไขมันมากกว่าร้อยละ 38 ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งให้รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ การทดลองใช้เวลาประมาณ 5 ปี พบว่าสถิติการเกิดมะเร็งเต้านมไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามยังมีข้อมูล ที่พบในกลุ่มผู้หญิงชาวญี่ปุ่นว่า ผู้หญิงญี่ปุ่นที่ดำรงชีวิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่น มีการรับประทานอาหารพวกปลาดิบ และอาหารไขมันต่ำ จะมีอัตราการเกิดมะเร็งเต้านมน้อยกว่าผู้หญิงญี่ปุ่นที่เข้าไปดำรงชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง

            การศึกษาดังกล่าว แม้จะยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าอาหารที่มีไขมันสูงทำให้เกิดมะเร็งเต้านม แต่ก็เชื่อว่าอาหารที่มีไขมันสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม

            การเปลี่ยนแปลงของวัยเจริญพันธุ์ เมื่อประมาณ 50-60 ปีมาแล้ว ผู้หญิงอเมริกันส่วนมาก จะมีประจำเดือนในช่วงอายุ 16 ปี และหมดประจำเดือนเมื่ออายุ 45-50 ปี แต่ในปัจจุบันผู้หญิงอเมริกัน มีประจำเดือนเมื่ออายุประมาณ 12 ปี และหมดประจำเดือนเมื่ออายุ 55-60 ปี การเปลี่ยนแปลงของวัยเจริญพันธุ์ดังกล่าว จะทำให้ช่วงเวลาของการมีประจำเดือนเพิ่มมากขึ้นด้วย

            การเปลี่ยนแปลงของการมีประจำเดือน จะส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม เพราะทุกครั้งที่มีประจำเดือนก็จะมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เต้านมด้วย หากการเปลี่ยนแปลงเป็นปกติก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติเกิดขึ้น หรือมีบางอย่างไปกระตุ้นให้การเปลี่ยนแปลงของเซลล์เต้านมผิดปกติไป ก็อาจเกิดมะเร็งเต้านมได้ ดังนั้น การที่ผู้หญิงอเมริกันมีช่วงเวลาของการมีประจำเดือนเพิ่มขึ้น ก็มีโอกาสเกิดความผิดปกติมากขึ้นเช่นกัน

            เนื่องจากมะเร็งเต้านมเป็นปัญหาที่เกิดกับผู้หญิงทั่วโลก และยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร จึงทำให้การป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งเต้านมทำได้ค่อนข้างยาก แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่า การลดปัจจัยเสี่ยงด้านการรับประทานอาหาร โดยลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ก็จะช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้มากด้วยครับ

มะเร็งเต้านมภัยคุกคามที่สตรีไทยไม่ควรมองข้าม

            มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 2 ในหญิงไทย รองจากมะเร็งปากมดลูก และเป็นสาเหตุตายที่สำคัญ อัตราการเป็นมะเร็งเต้านมพบมากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณว่า 1 ใน 10 ของผู้หญิง มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเต้านมในช่วงหนึ่งของชีวิต

            เรื่องมะเร็งเต้านมนี้ น.พ.นพวัชร์ สมานคติวัฒน์ กลุ่มงานศัลยกรรม ร.พ.ราชบุรี บอกว่า ส่วนใหญ่พบในผู้หญิง ส่วนในผู้ชายก็พบได้ แต่น้อยกว่ามาก โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การมีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุยังน้อย, การหมดประจำเดือนช้า, ไม่มีลูก หรือมีลูกคนแรก เมื่ออายุเกิน 30 ปี, มีประวัติครอบครัวมีเนื้อเยื่อเต้านมที่ผิดปกติ การรับประทานอาหารไขมันมาก, การดื่มเหล้าก็เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้พบเพียง 25% ของผู้ป่วย ขณะที่ 3 ใน 4 ของผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง กล่าวคือ ผู้หญิงทุกคนล้วนเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้ 

            มะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรกจะไม่มีอาการ (สามารถตรวจพบความผิดปกติได้จาก การเอกซเรย์เต้านม ที่เรียกว่า แมมโมแกรม) ต่อมาคลำได้เป็นก้อนแข็ง ระยะแรกเป็นก้อนเล็ก ถ้าทิ้งไว้ก็จะขยายขนาดขึ้น ในที่สุด ก็จะแตกออกมาเป็นแผล ในผู้ป่วยบางคนอาจมาหาแพทย์ ด้วยอาการของมะเร็งระยะแพร่กระจาย เช่น ถ้ากระจายไปที่ปอดก็จะมีอาการไอ หอบเหนื่อย ถ้ากระจายไปที่กระดูก ก็จะมีอาการปวดกระดูก ต้องทำความเข้าใจว่า
            1.
ก้อนของเต้านม ส่วนใหญ่ไม่ใช่มะเร็ง แต่โอกาสเป็นมะเร็งจะมากขึ้น หากอายุมากขึ้น (จากสถิติ ก้อนที่เต้านมทุกช่วงอายุ พบมะเร็ง 15-20% หากอายุน้อยกว่า 30 ปี พบมะเร็งเพียง 1.5% หากอายุเกิน 50 ปี พบถึง 60%)
            2. ก้อนที่เป็นมะเร็งส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บ (พบเพียง 15% ที่มีอาการเจ็บ) ซึ่งทำให้คนไข้เข้าใจผิดคิดว่าไม่เจ็บคงไม่ใช่มะเร็ง แล้วก็ปล่อยทิ้งไว้ เมื่อพบว่า มีก้อนที่เต้านมจึงควรได้รับการตรวจและวินิจฉัยจากแพทย์เสมอ

            การรักษาหลักของมะเร็งเต้านม คือ การผ่าตัด อาจร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง หรือการให้ยาฮอร์โมน มะเร็งเต้านม หากรักษาในระยะแรก สามารถให้การรักษาจนหายขาดได้ แต่หากปล่อยไว้จนเป็นมาก ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ (มะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ในประเทศสหรัฐอเมริกา)

            เนื่องจากเรายังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งเต้านม และผู้ป่วยส่วนใหญ่ ก็ไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมา การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือการค้นพบให้เร็วที่สุด ซึ่งต้องอาศัยองค์ประกอบ 3 อย่างคือ
            1. การตรวจเต้านมด้วยตนเอง แนะนำให้เริ่มตรวจเมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป โดยตรวจเป็นประจำทุกเดือน
           
2. การตรวจเต้านมโดยแพทย์ แนะนำในอายุ 20-40 ปี ควรตรวจทุก 3 ปี อายุมากกว่า 40 ปี ควรตรวจทุกปี 
           
3. การตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม ควรเริ่มทำเมื่ออายุ 35 ปี และเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุก 1-2 ปี 

            การตรวจเต้านมด้วยตนเองนับเป็นความสำคัญอันดับหนึ่ง เนื่องจากผู้ป่วย มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่มาพบแพทย์ด้วยเรื่องก้อนที่เต้านม โดย 80-90% ของก้อน ผู้ป่วยคลำพบเอง หากไม่เคยตรวจเต้านมด้วยตนเองเลย ก้อนที่พบมักจะมีขนาดใหญ่ ประมาณ 3-5 ซ.ม. หรือมากกว่า หากเคยตรวจบ้างเป็นครั้งคราว ก้อนมักมีขนาด 2-3 ซ.ม. หากตรวจประจำทุกเดือน อาจพบก้อนได้ตั้งแต่ขนาด 1-2 ซ.ม. หรือเล็กกว่า มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ 

            มีความเชื่อบางประการที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง และควรได้รับการแก้ไข ดังนี้ 

            หลักง่ายๆ ของการตรวจเต้านมด้วยตนเอง คือ ให้เริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเอง ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป โดยตรวจเป็นประจำทุกเดือน ในช่วงหลังหมดประจำเดือนแล้ว 7-10 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่เต้านมไม่มีการคัดตึง เริ่มจากการยืนหน้ากระจก เพื่อดูความผิดปกติ จากนั้นจึงใช้ส่วนปลายของฝ่านิ้วมือ 3 นิ้ว คือ ชี้ กลาง นาง กดคลำให้ทั่วเต้านม ในท่านอน และท่ายืน

            แล้วคุณล่ะ เคยตรวจเต้านมด้วยตนเองบ้างหรือยัง

มะเร็งเต้านม

พญ.จันทรา เจณณวาสิน

             ี่สหรัฐอเมริกานั้น เดือนตุลาคมของทุกปีได้จัดให้เป็นเดือนแห่ง การรณรงค์ต่อต้านมะเร็งเต้านม และในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา อัตราตายของสตรีเนื่องจากโรคนี้มิได้ลดลง ซึ่งแตกต่างจากอัตราตาย จากมะเร็งปากมดลูก สตรีที่ตายจากมะเร็งเต้านมมีจำนวนสูงเป็นสองเท่า ของสตรีที่ตายจากมะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธุทั้งหมด (มดลูกและรังไข่) มะเร็งของเต้านมพบบ่อยถึง 32% ของมะเร็งทั้งมดในสตรี ดังตารางที่แสดงไว้ตาราง

1994 อัตราการเกิดมะเร็งตามตำแหน่งต่างๆ ในบุรุษและสตรี           

ตำแหน่ง

ชาย

หญิง

มะเร็งที่ผิวหนังเกิดจาก Melanoma

3%

3%

มะเร็งในปาก

3%

2%

มะเร็งเต้านม

 

44%

มะเร็งปอด

16%

13%

มะเร็งตับอ่อน

2%

2%

มะเร็งกระเพาะอาหาร

2%

 

มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

12%

13%

มะเร็งต่อมลูกหมาก

32%

 

มะเร็งระบบปัสสาวะ

9%

4%

มะเร็งของเม็ดเลือดขาวและต่อมน้ำเหลือง

7%

6%

มะเร็งที่อื่น ๆ

14%

13%

1994 อัตราการตายที่เกิดจากมะเร็งตำแหน่งต่างๆ ในบุรุษและสตรี 

ตำแหน่ง

ชาย

หญิง

มะเร็งที่ผิวหนังเกิดจาก Melanoma

2%

1%

มะเร็งในปาก

2%

1%

มะเร็งเต้านม

 

18%

มะเร็งปอด

33%

23%

มะเร็งตับอ่อน

4%

5%

มะเร็งกระเพาะอาหาร

3%

 

มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

10%

11%

มะเร็งต่อมลูกหมาก

13%

 

มะเร็งรังไข่

 

5%

มะเร็งมดลูก

 

4%

มะเร็งระบบปัสสาวะ

5%

3%

มะเร็งของเม็ดเลือดขาวและต่อมน้ำเหลือง

8%

8%

มะเร็งที่อื่น ๆ

14%

21%

            โดยเฉลี่ยสตรีมีโอกาสเกิดมะเร็งของเต้านมได้ถึง 1 ใน 9 (สถิติของสตรีผิวขาว) อัตราการเกิดมะเร็งชนิดนี้สูงขึ้นมาก เมื่ออายุเกิน 30 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะสตรีที่ไม่เคยตั้งครรภ์เลย อายุที่ตรวจพบได้ว่าเป็นมะเร็งมากที่สุด คือ ช่วงระหว่าง 50-55 ปี สาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็งนั้นไม่ทราบแน่นอน แต่สตรีใดที่มีมารดา พี่สาว หรือน้องสาวเป็นมะเร็ง ก็มีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมได้สูง โดยเฉพาะมักพบในเต้านมทั้งสองข้าง และเกิดในอายุน้อยกว่าคือ ก่อนวัยหมดประจำเดือน ทั้งนี้เพราะบทบาททางกรรมพันธุ์ คือ ยีนที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง เช่น มะเร็งรังไข่, มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเต้านม ส่วนการดื่มเหล้า, สูบบุหรี่, การกินยาคุมกำเนิด หรือยาฮอร์โมนเสริม ต่างไม่มีส่วนในการทำให้เกิดมะเร็งเต้านม, ยกเว้น ในสตรีที่เกิดมะเร็งเต้านมแล้ว ถ้าได้รับฮอร์โมนสตรีเพศ มะเร็งเต้านมจะเติบโตเร็วขึ้น

            สตรีทุกคนตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ควรใช้มือตรวจเต้านมของตนเองทุกเดือน ในช่วงภายหลังมีระดู เพราะขณะนั้นเต้านมมีขนาดเล็กลง และควรได้รับการตรวจเต้านมจากแพทย์ทุกปี และในสตรีที่มีอายุระหว่าง 35-40 ปี ควรไปรับการถ่ายภาพเอกซเรย์ของเต้านม (Mammography) อย่างน้อย 1 ครั้ง กลุ่มที่มีอายุระหว่าง 40-45 ปี ควรได้รับการตรวจด้วยเครื่องฉายรังสีดังกล่าวอย่างน้อยทุก 2 ปี และควรตรวจแบบนี้ทุกปี ถ้าสตรีที่อายุเกิน 50 ปี เพราะการมีอายุมากขึ้น คือ ความเสื่อมของเซลล์ เป็นปัจจัยที่สำคัญในการเพิ่มอัตราเสี่ยง ของการเกิดมะเร็งทุกชนิด โดยเฉพาะที่เต้านม 

            นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย USC ค้นพบว่า เมื่อคนมีอายุสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงแบบผ่าเหล่าผ่ากอ (Mutation) ในยีนที่ทำให้เกิดมะเร็งมีสูงขึ้น (ยีนเป็นตัวสืบทอดทางกรรมพันธุ์) คือ ตามธรรมชาติแล้ว เซลล์ของร่างกายที่ชำรุด หรือผิดปกติย่อมถึงกาลแตกสลายไป ก่อนที่มันจะเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งร้ายแรง นอกเหนือจากนั้น มันยังถูกทำลายโดยหน่วยป้องกันของร่างกาย แต่ถ้ากระบวนการแตกสลาย ที่ว่านี้ไม่เกิด อัตราการเกิดเซลล์มะเร็งจะสูงขึ้น ปกติเซลล์มะเร็งเอง ก็มักจะตายไปใน 2-3 สัปดาห์ แต่เซลล์มะเร็งในคนอายุมาก มีการเปลี่ยนแปลงแบผ่าเหล่าผ่ากอในยีนอย่างมาก 9BCL2 mutation ซึ่งทำให้สามารถมีชีวิตอยู่นานขึ้น ดังที่พบในมากกว่า 50% ของเซลล์พวก Nonhodgkin's Lymphoma Tumor ที่คร่าชีวิต ของอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง แจ็คเกอลีน เดนเนดี้ โอนาซิส คนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เมื่อเปรียบเทียบกับคนอายุต่ำกว่า 20 ปี คนสูงอายุมีเซลล์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบผ่าเหล่าผ่ากอนี้ในม้าม และในเลือดมากกว่าคนอายุน้อยถึง 40 และ 13 เท่าตามลำดับ

            วิธีตรวจเต้านมด้วยเอกซเรย์ (Mammography) ในยุคนี้ยังคงเป็นวิธีเดียวที่สามารถตรวจหามะเร็งของเต้านม ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 1 เซนติเมตร ถึงแม้มะเร็งมีขนาดเล็กเท่านี้ แต่โอกาสที่มันสามารถแพร่กระจาย ไปตามต่อมน้ำเหลืองมีถึง 25% ในปัจจุบันแพทย์ถือว่า มะเร็งของเต้านมสามารถกระจายแพร่ไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกของการเกิดมะเร็ง นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราตายของผู้ป่วยด้วยมะเร็งเต้านม มีจำนวนมากกว่าอัตราตายด้วยโรคมะเร็งชนิดอื่น ตราบใดที่ความก้าวหน้าไปถึงขั้นตรวจหามะเร็งในกระแสเลือดยังไม่แน่นอน เราก็ต้องใช้วิธีที่มีอยู่ตอนนี้ คือ ตรวจด้วยเอกซเรย์ไปก่อน แต่การตรวจด้วยเอกซเรย์ก็มีข้อผิดพลาดได้ถึง 8-9% ดิฉันมีคนไข้ที่เป็นพยาบาล เธอได้รับการตรวจเอกซเรย์ เมื่อสี่เดือนที่แล้วมาว่าไม่มีปัญหาอะไร ส่วนก้อนในหน้าอกขนาดเล็กๆ นั้นมิใช่มะเร็ง แต่เมื่อแพทย์ ทำการผ่าตัดก้อนในเต้านมกลับพบว่า เป็นมะเร็งของเต้านม และกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองในรักแร้ถึง 2 ต่อม

            ลักษณะเริ่มแรกของมะเร็งที่เต้านม ไม่แน่นอน เช่น ความเจ็บปวดที่เต้านม พบได้น้อยกว่า 10% ของคนที่เป็นมะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่ความเจ็บปวดที่เต้านม เกิดจากระดับฮอร์โมนที่สูงขึ้นก่อนมีระดู ภายหลังเมื่อสตรีผู้นั้นมีระดูไปแล้ว ความเจ็บปวดลดลง หรือเกิดจากการใส่เสื้อชั้นในที่ไม่พยุงทรวงอกให้กระชับแน่นกับตัว นอกจากนี้สตรีบางคนที่ร่างกายคั่งน้ำมากในระยะก่อนมีระดู อาจเกิดอาการเจ็บปวดบริเวณเต้านม ด้วยเหตุนี้สตรีที่มีอาการปวดเจ็บตรงเต้านม ไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป เพราะต้นตออาจมิได้เกิดจากมะเร็ง

            ส่วนก้อนในเต้านมที่คลำได้นั้น ไม่แน่ว่าเป็นมะเร็งเสมอไป โดยเฉพาะในสตรีอายุ 20-35 ปี ถ้าก้อนที่คลำได้ และมักมีอาการเจ็บปวด ก่อนมีระดูนั้น มักเป็นก้อนที่เกิดจากการรวมตัวจับกลุ่มกันของต่อมน้ำนม ท่อนำน้ำนม และเส้นใยพังผืดภายในเต้านม ก้อนนี้เรียกว่า Fibrocystic change ก้อนนี้อาจเกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งในเต้านมแต่ละข้าง มันเปลี่ยนขนาดโตขึ้น ก่อให้เกิดอาการเจ็บในช่วงก่อนมีระดู 

            แต่เมื่อสตรีอายุมากขึ้น จนถึงขั้นหมดระดู ลักษณะก้อนแบบนี้ จะลดน้อยลงจนหายไป ในบางรายถ้าลดการบริโภคคาเฟอีน เช่น กาแฟ อาจช่วยลดปัญหา Fibrocystic change นอกจากนี้ แพทย์บางคนอาจสั่งให้รับประทาน Tamoxifen 20 mg ต่อวัน ซึ่งได้ผลในการรักษาถึง 70% แต่อาจมีอาการแทรกซ้อนคือ อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกได้ถึง 25% วิธีใช้ยา Tamoxifen ในการบำบัด Fibrocystic change นี้ ทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐ ยังไม่ยอมรับเป็นทางการ ยาขนานนี้ยังอยู่ในการทดลอง ว่ามีคุณสมบัติป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมได้หรือไม่ คือ หาข้อมูลในสตรีที่ไม่มีมะเร็งในตัวเธอ

            แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าสตรีผู้ใดตรวจพบว่า บริเวณเต้านมมีก้อนแข็ง หรือคลำได้ก้อนในรักแร้หรือที่ผิวหนังบริเวณเต้านม มีการเปลี่ยนแปลงเป็นรอยบุ๋ม หรือย่นยู่ผิดปกติ (dimpling, pucking) หรือหัวนมมีของเหลวไหลออกมา โดยเฉพาะถ้าเป็นเลือด รวมทั้งลักษณะหัวนม ที่เคยยื่นออกมากลับหลบหายเข้าไป สตรีผู้นั้นไม่ควรนิ่งนอนใจ เธอควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน สตรีหลายท่านไม่อยากไปตรวจเต้านมด้วยเอกซเรย์ เพราะความอาย หรือกลัวเจ็บ หรือเกรงอันตรายจากการฉายรังสีเอกซ์ ในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ผู้ทำการตรวจด้วยเครื่องมักเป็นสตรี และเครื่องมือได้วิวัฒนาการไปจนใช้รังสีน้อยมาก คือ ปริมาณรังสีที่ใช้ในการตรวจจัดเป็นเพียง 0.1% ของรังสีที่คนเราได้รับ จากสภาพแวดล้อมทั่วไป ในช่วงเวลา 1 ปี และราคาค่าตรวจในปัจจุบันก็ถูกลงมาก

            เนื่องจากมะเร็งของเต้านม สามารถแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก วงการแพทย์ จึงพยายามวิจัยหาวิธีที่จะวินิจฉัยมะเร็งของเต้านมให้ได้เร็วที่สุด โดยที่รังสีแพทย์พยายามค้นคว้าวิธีก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ด้วยเครื่องที่ใช้รังสีแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Redonance Digital imaging) มาช่วยตรวจดูหน้าอกตั้งแต่ระดับโมเลกุลเลยทีเดียว ส่วนการตรวจทางเลือด วงการวิจัยพยายามหาตัวบ่งชี้ว่าสตรีผู้ใด มีความโน้มเอียงในการเกิดมะเร็งได้ง่าย รวมทั้งตรวจหากลไกในการเกิดมะเร็ง และชนวนการแพร่กระจายของมะเร็งไปทั่วร่างกาย เช่น กระดูก ปอด และตับ เพราะมันสามารถแพร่ไปได้ทั่ว ตามกระแสเลือดและทางเดินน้ำเหลือง

            ดังนั้น ตราบใดที่วงการแพทย์ ยังไม่เสนอวิธีใหม่ใด ที่เหมาะสมมาใช้ สตรีทุกท่านควรตรวจเต้านมของท่านเอง อย่างสม่ำเสมอทุกเดือน และให้แพทย์ตรวจทุกปี พร้อมกับการตรวจมะเร็งปากมดลูก เพราะ ประมาณ 90% ของก้อนในหน้าอกสตรีเป็นผู้ตรวจพบเอง

วิธีตรวจเต้านม
           
เริ่มด้วยการนั่งหรือยืนอยู่หน้ากระจก มองดูลักษณะของเต้านมในเมื่อแขนทั้งสองข้างวางอยู่แนบลำตัว และเมื่อยกประสานกันหลังท้ายทอย เต้านมทั้งสอง มีการเปลี่ยนขนาดหรือรูปร่างหรือไม่ ลักษณะผิวหนังบริเวณเต้านม และหัวนมมีการเปลี่ยนไปเป็นบุ๋มลง หรือขรุขระแบบผิวส้ม หรือมีก้อนโป่งขึ้น จากนั้นยกมือเท้าสะเอวและกดเกร็ง ให้กล้ามเนื้อหน้าอกตึงตัว ส่วนใหญ่เต้านมทั้งสองข้าง มักมีขนาดไม่เท่ากันอยู่แล้ว ดังนั้นเธออาจเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดขึ้น การใช้มือคลำ วิธีนี้สามารถทำได้ง่ายขึ้น ถ้าตรวจระหว่างอาบน้ำ โดยใช้สบู่ถูให้ลื่นมือ เป็นการช่วยให้คลำได้ง่ายขึ้น แล้วยกแขนซ้าย มือจับที่บนศีรษะ ใช้นิ้วมือขวาแตะกดบนเต้านม โดยที่นิ้วทั้ง 4 ชิดกัน อย่าใช้ปลายนิ้วทีเดียว เลื่อนนิ้วมือตรวจไปจากด้านนอกของเต้านม เข้ามาหาหัวนม โดยหมุนรอบเป็นวงตามเข็มนาฬิกา และตรวจในรักแร้ รวมทั้งการบีบหัวนมดูว่ามีของเหลวผิดปกติไหลออกมาหรือไม่ ส่วนใหญ่อาจมีน้ำนมไหลมา แม้ว่าคนนั้นห่างจากการตั้งครรภ์ไปนาน จากนั้นใช้นิ้วมือซ้ายตรวจหน้าอกขวาด้วยวิธีเดียวกัน

            ต่อมาใช้วิธีนอนราบ โดยใช้มือซ้ายช้อนใต้ศีรษะแล้ว ตรวจคลำหน้าอกซ้าย ด้วยมือขวาเป็นวงกลมแบบเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว จากนั้นเปลี่ยนท่าให้มือขวาช้อนใต้ศีรษะ แล้วใช้นิ้วมือซ้ายตรวจเต้านมขวา ด้วยวิธีเดียวกัน ถ้าหากท่านตรวจพบก้อนที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ก็ควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน ด้วยวิธีนี้รวมดับการตรวจด้วยรังสี (Mammography) สามารถช่วยให้พบตรวจมะเร็งของเต้านมได้ตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งจะช่วยทำให้อัตราการตายจากโรคนี้ลดน้อยลง ตราบจนวันหนึ่งในอนาคตที่กลุ่มนักวิจัยสามารถค้นหาวิธีที่แน่นอน ในการตรวจหามะเร็งตั้งแต่ต้นตอของมัน เช่น การตรวจเลือด ซึ่งวันนั้นได้เขยิบใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว

จะดูแลเต้านมอย่างไรดี ?

นพ.ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์

            สำหรับผู้หญิงทุกคนทั่วโลกแล้ว เต้านมคือ อวัยวะที่จัดเป็นของสงวน และมีความสำคัญ ในการเป็นเครื่องแสดงเอกลักษณ์ของความเป็นหญิง ดังนั้นเพียงแต่คิดว่า เต้านมอาจเป็นโรคนั้นโรคนี้ก็ทำเอาใจแป้ว ขวัญหนีดีฝ่อไปตามๆ กัน ข้อเสียคือ บางคนอายหมอหรือกลัวเสียของสำคัญ เลยพาลไม่ยอมไปหาหมอ จนในที่สุดโรคลุกลามไปมากเกินกว่าจะรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายยิ่ง

            การเปลี่ยนแปลงภายในเต้านม ไม่ว่าจะเป็นก้อน อาการเจ็บ หรือ มีของเหลวเยิ้มออกจากหัวนม เป็นปรากฏการณ์ที่พบบ่อยกว่าที่คิด จนพูดได้ว่าครึ่งหนึ่งของผู้หญิง จะต้องเกิดความห่วงใยในการเปลี่ยนแปลง ที่เต้านมของเธอ เสียจนต้องไปปรึกษาคุณหมออย่างน้อยครั้งหนึ่งในชั่วชีวิตของเธอ

            มีปัจจัยหลากหลายที่ทำให้เต้านมเปลี่ยนรูปร่างและขนาด ซึ่งนอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ระหว่างการตั้งครรภ์ หรือการมาของประจำเดือนแล้ว ยังมีภาวะติดเชื้อ, การเกิดถุงน้ำ (CYST) หรือการได้รับบาดเจ็บ

            เวลาเต้านมมีอะไรเปลี่ยนไป ผู้เป็นเจ้าของมักจะนึกถึงเรื่องร้ายๆ ไว้ก่อน คือ กลัวว่าจะเป็นมะเร็งเต้านม ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่จะไม่ใช่มะเร็งเต้านม จึงขอให้ทำความรู้จักคุ้นเคยกับอาการและอาการแสดงที่บ่งชี้ว่า เป็นมะเร็งเต้านมเสียหน่อย รวมทั้งวิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง อย่างถูกต้องด้วย

โรคหรือภาวะที่เกิดบ่อย ๆ กับเต้านม
           
เต้านมคัด สำหรับหญิงที่ยังมีประจำเดือนอยู่นั้น อาจประสบกลุ่มอาการ ประจำเดือนมา (PREMRNSTRUAL SYNDROME) ทำให้เจ็บบริเวณเต้านม เป็นระยะเวลาชั่วคราว เพราะขณะที่รอบเดือนดำเนินไปนั้น การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน จะทำให้เยื่อบุมดลูกมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อเตรียมรับการตั้งครรภ์ที่อาจจะเกิดขึ้น เต้านมก็เช่นกัน จะมีเซลล์ใหม่ๆ เกิดขึ้นที่ต่อมและท่อภายในเต้านม เพื่อเตรียมไว้ผลิตน้ำนม เพื่อเลี้ยงทารก ดังนั้นในราว 1 สัปดาห์ก่อนประจำเดือนมา เต้านมจะโตขึ้น ซึ่งในผู้หญิงบางคน การโตขึ้นอาจก่อให้เกิดอาการเจ็บเต้านมมาก ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีใครทราบ กลไกของการเกิดกลุ่มอาการก่อนประจำเดือนมาเช่นนี้ เพียงแต่คาดคะเนเอาว่าน่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางระดับฮอร์โมน ในแต่ละวันของรอบเดือน

            เอาเป็นว่า อาการเจ็บเต้านมก่อนประจำเดือนมานั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดาและจะไม่มีผลร้ายแรงตามมา

การดูแลรักษาตัวเอง
           
1.
อย่ารับประทานอาหารเค็มมากไป ในช่วงก่อนประจำเดือนมา เพราะเกลือจะทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ อมน้ำไว้ทำให้บวมและอาการเลวลง
            2. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน น้ำตาลและแอลกอฮอล์ 
            3.
สวมบราที่มีขนาดเสริมพอดีและใส่ได้สบาย
            4.
เก็บบันทึกอาการก่อนประจำเดือนมาที่ปรากฏติดต่อกัน 2-3 เดือน โดยเฉพาะวันที่เต้านมเจ็บที่สุด วันที่อาการเจ็บเต้านมหายไป วันที่ประจำเดือนเริ่มมา เพื่อให้ข้อมูลดังกล่าวแก่คุณหมอ สำหรับใช้ในการประกอบการวินิจฉัยและวางแผนการรักษา

การรักษาทางแพทย์ 
           
คุณหมออาจสั่งยาขับปัสสาวะ เพื่อลดการคั่งของน้ำในร่างกาย ทำให้อาการบวมบรรเทาลง ยานี้อาจเริ่มต้น 10 วันก่อนประจำเดือนมา 1-2 วันก่อนที่อาการจะปรากฏ

โรคติดเชื้อของเต้านม
           
การอักเสบของเต้านมเนื่องจากการติดเชื้อ (MASTITIS) พบได้บ่อยในผู้หญิงที่กำลังหรือเพิ่งเสร็จสิ้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การติดเชื้อเกิดขึ้นได้เมื่อท่อน้ำนมเกิดอุดตัน หรือบางทีเกิดขึ้น โดยไม่เกี่ยวกับการให้ลูกดูดนม รู้แต่ว่าถ้าการติดเชื้อรุนแรงก็จะมีหนองเกิดขึ้น

อาการของการติดเชื้อประกอบด้วย
           
1.
เต้านมจะบวมแดงและร้อน
            2.
ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้โตขึ้น
            3.
อ่อนเพลียหรือรู้สึกไม่สบาย
            4.
มีไข้ต่ำ 

การดูแลตนเอง
           
1.
ดื่มน้ำมากขึ้น นอนพักประคบบริเวณเต้านมด้วยกระเป๋าน้ำร้อน
            2.
ใช้ยาแก้ปวดหรือยาต้านการอักเสบที่หาซื้อได้จากร้านขายยา
            3.
ถ้ากำลังอยู่ระหว่างเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็ให้ทำความสะอาดหัวนม และซับแห้งระหว่างการดูดนมของลูกแต่ละครั้ง อย่าสวมใสอาภรณ์ ที่อาจจะระคายเคืองเต้านมและสามารถให้ลูกดูดนมต่อ หรือใช้ลูกยางสูบน้ำนม เพื่อระบายน้ำนมออกจากเต้านม ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ 

การรักษาทางแพทย์ 
           
คุณหมออาจจะสั่งยาปฏิชีวนะให้รับประทาน ซึ่งโดยทั่วไปจะไม่มีอันตรายต่อลูกในกรณีที่ยังเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่ 

            ในกรณีที่สงสัยว่าเต้านมที่อักเสบครั้งนี้อาจมีหนอง อยู่ด้วยก็ขอให้ไปพบคุณหมอทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยและระบายหนองออก โดยใช้เข้มเจาะหรือผ่าเป็นแผลเล็กๆ ที่ขอบหัวนม ซึ่งจะทำให้เกิดรอยแผลเป็นเพียงขนาดเล็ก

ก้อนที่เต้านม

การเปลี่ยนแปลงของเต้านมที่ทำให้เกิดเป็นก้อนคลำได้ มีอาทิเช่น
            1. ภาวะไฟโบรซิสติก (FIBROCYSTIC CHANGES) การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดกับผู้หญิงกว่าครึ่งโลก แต่ไม่มีอันตรายร้ายแรงใดๆ ไม่ทำให้เกิดมะเร็ง แต่จะทำให้เต้านมคลำดูมีก้อนตะปุ่มตะป่ำจนน่าตกใจ และทำให้คลำหาก้อนมะเร็งได้ยาก
            2.
ถุงน้ำหรือซิสต์ (CYSTS) ดูเหมือนผู้หญิงไทยรู้จักคำว่า "ซิสต์" นี้มาก แม้บางคน จะไม่กระดิกหูเรื่องภาษาอังกฤษก็ตาม ภาวะนี้เกิดบ่อยที่สุดในหญิงวัย 35-50 ปี เมื่อมีถุงน้ำเกิดขึ้นแล้วมักจะโตขึ้นและเจ็บมากขึ้น ก่อนประจำเดือนมาเล็กน้อย เพราะปลายช่วงก่อนประจำเดือนมา จะมีการคลั่งของน้ำในร่างกายมากขึ้น ถุงน้ำในเต้านมอาจมีขนาดเล็กจิ๋ว ไปจนถึงขนาดเท่าไข่ เวลาคลำเต้านมของคนที่มีถุงน้ำอาจรู้สึกว่า ถุงน้ำเคลื่อนไหวได้ใต้ผิวหนังและรูปร่างของถุงน้ำอาจเปลี่ยนได้ 

            ไม่มีใครทราบว่าถุงน้ำเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วพอผู้หญิง ย่างเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน มันก็พลอยหายไปด้วย จึงสันนิษฐานว่าฮอร์โมนอาจมีส่วนก่อให้เกิดถุงน้ำดังกล่าว
            3.
เนื้องอกชนิดไม่ร้าย (FIBROADENOMA) ก้อนในเต้านมซึ่งไม่ใช่ถุงน้ำหรือมะเร็ง ก็มักจะเป็นเนื้องอกธรรมดา ที่เรียกว่า "ไฟโบรอะดีโนม่า" (FIBROADENOMA หรือ ADENOFIBROMA) มักจะเกิดกับหญิงสาว ก้อนจะมีลักษณะแข็ง, เรียบ, ขอบชัด เคลื่อนไหวไปมาได้ใต้ผิวหนังเวลาคลำดู 

การบาดเจ็บของเต้านม (TRAUMA)
           
การกระทบกระแทกบริเวณเต้านม อาจก่อให้เกิดก้อนได้ในเวลาต่อมา

การดูแลตนเอง
           
1. ใช้ยาสามัญประจำบ้าน ช่วยบรรเทาปวด เช่น แอสไพริน, พาราเซตามอล, ไอบูโปรเฟน (IBUPROFEN) หรือ NAPROXEN SODIUM เป็นต้น แต่ถ้าปวดมากขนาดยาสามัญเอาไม่อยู่ก็ขอยาแรงขึ้นจากคุณหมอได้ 
            2.
สวมใส่บราที่ให้ความรู้สึกสบายแม้ในยามค่ำคืนก็ให้สวมไว้ 
            3.
งดหรือลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือการสูบบุหรี่ เพราะ เคยมีรายงานว่าก้อนหายไปเมื่อเลิกสูบบุหรี่หรืองดดื่มกาแฟ
            4.
หญิงบางคนบอกว่าวิตามินอี ช่วยบรรเทาได้ แต่ยังไม่มีหลัก ฐานสนับสนุนของการแพทย์ที่ชัดเจน

การรักษาทางการแพทย์ 
           
คุณหมออาจตัดสินใจระบายน้ำออกจากถุงน้ำ เพื่อบรรเทาปวด ถ้าเจาะระบายแล้วก้อนหายไปก็ไม่ต้องทำอะไรอีก นอกจาก ถ้าก้อนกำเริบหรือก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้นหลังเจาะ ส่วนก้อนเนื้องอกไฟโปรอะดีโนม่านั้น คุณหมออาจจะเลือกวิธีไม่ผ่าตัดก็ได้ ถ้าไม่มีอาการอะไร

ปัญหาเกี่ยวกับหัวนม
           
ถ้าหัวนมมีของเหลวสีขาวหรือเขียวซึมออกมา ก็อาจเป็นน้ำนม ในกรณีที่กำลังเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่ ยิ่งถ้าออกจากหัวนมทั้ง 2 ข้าง ก็ยิ่งสบายใจได้ แต่ถ้าของเหลวที่ว่านี้มีสีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน ก็อาจเกิดจากภาวะไฟโบรซิสติก ซึ่งพบบ่อยและไม่มีอันตรายอะไร ส่วนของเหลวสีดำหรือแดงเข้มคงจะหมายถึงเลือด และอาจบ่งชี้ว่ามีเนื้องอกเจริญเติบโตอยู่ในท่อน้ำนมใดท่อน้ำนมหนึ่ง โดยมีโอกาสเป็นมะเร็งได้ 

            ถ้าหัวนมเกิดบอด คือ บุ๋มลงทั้งๆ ที่เมื่อก่อนชูช่ออยู่ดี ก็มักจะเป็นอาการแสดงของมะเร็งเต้านม

การรักษาทางการแพทย์ 
           
ถ้ามีของเหลวผิดปกติออกมา หมออาจจะแนะนำให้ตัดชิ้นเนื้อมาตรวจ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นมะเร็ง การมีหัวนมบอดหรือเลือดออกมาจากหัวนม ล้วนเป็นอาการแสดงที่ต้องนำไปสู่การตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อดูว่า จะมีโอกาสเป็นมะเร็งหรือไม่ 

ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม
           
ที่สหรัฐอเมริกานั้น ผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านมกันมาก จนเกิดตัวเลขในเชิงสถิติเหมือนการต่อรองในการพนันขันต่อว่า เมื่อหลายปีก่อนผู้หญิงคนหนึ่ง ๆ จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม 1 ต่อ 13 และเพิ่มขึ้นเป็น 1 ต่อ 9 ในปัจจุบัน คือหมายความว่าถ้าหญิงวัย 18 ปี ทุกคนมีชีวิตอยู่นานจนถึงอายุ 85 ปีแล้ว 1 ใน 9 คนจะเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งดูเผินๆ อาจจะว่าเป็นตัวเลขที่สูงแต่จริงๆ แล้วผู้หญิงเป็นมะเร็งปอดมากกว่านี้ และตายจากโรคหัวใจมากกว่ามะเร็งเต้านมถึง 4 เท่า (สำหรับหญิงในวัย 55-74 ปี)

            มองอีกมุมหนึ่งทางสถิติ สมาคมปราบปรามมะเร็งอเมริกันบอกว่าปีนี้ จะมีผู้หญิงอเมริกันเป็นมะเร็งเต้านมอีก 180,000 คน และจะเสียชีวิตด้วยมะเร็งเต้านม 44,000 คน

อาการและอาการแสดงของมะเร็งเต้านม
           
1.
มีก้อนหรือเนื้อเต้านมที่หนาตัวขึ้น คลำดูแข็งแต่ไม่เจ็บปวด
            2.
มีเลือดออกทางหัวนม
            3.
หัวนมปอด
            4.
รูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไป เช่น ข้างหนึ่งสูงกว่าอีกข้างหนึ่ง เวลามองดูในกระจก
            5.
มีรอยบุ๋มปรากฏบนผิวหนังที่เต้านม
            6.
มีรอยแดงหรือผิวหนังเปลี่ยนไปจนคล้ายผิวส้ม

ปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม
           
มีทฤษฎีอธิบายความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมมากมาย แต่ก็ยังไม่มีใครรู้แน่ว่า มะเร็งเต้านมเกิดจากอะไร ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยอมรับว่า ภูมิลำเนาที่ถือกำเนิดและประวัติครอบครัวที่มีคนเป็นมะเร็งเต้านม จะเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 75 ของมะเร็งเต้านมเกิดในผู้หญิงที่ดูว่าไม่มีมีปัจจัยเสี่ยงอะไรอยู่เลย

            ปัจจัยสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม เชื้อชาติและที่อยู่อาศัย มีส่วนเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงได้เหมือนกัน

ปัจจัยเสี่ยงที่พบว่ามีส่วนสำคัญคือ 
           
1.
อายุ - คือความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามวัย
            2.
ภูมิลำเนา - คนที่เกิดในประเทศแถบอเมริกาเหนือ และยุโรปตอนเหนือ มีอัตราเสี่ยงสูง พวกที่เกิดจากยุโรปตอนใต้และลาตินอเมริกา มีอัตราเสี่ยงปานกลาง และคนที่เกิดในทวีปเอเชียและอเมริกาใต้ มีความเสี่ยงต่ำ
            3.
ประวัติครอบครัว - การเกิดมะเร็งเต้านม ตามกรรมพันธุ์จริงๆ แล้วมีเพียง 5-10% แต่ถ้าท่านมีประวัติครอบครัวว่า คุณแม่หรือพี่สาวน้องสาวเป็นโรคนี้แล้ว โอกาสที่ท่านจะเป็นมะเร็งเต้านมด้วย ก็จะสูงขึ้น แต่ปัจจัยเสี่ยงนี้จะลดความสำคัญลง เมื่อเรามีอายุสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้ท่านอายุ 40 ปี และมีคุณแม่หรือพี่สาวน้องสาว เป็นมะเร็งเต้านมอยู่ ท่านก็จะมีโอกาสเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้น 5 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีแม่หรือพี่น้องเป็นโรคนี้ 

            อย่างไรก็ตาม พอท่านมีอายุ 60 ปีแล้ว ความเสี่ยงก็จะพอๆ กับผู้หญิงอื่นๆ ทั่วไป

อาหารทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้หรือไม่ ?
           
มะเร็งบางอย่างมีผลจากอาหารที่รับประทานเข้าไป แต่กับมะเร็งเต้านมแล้ว ยังไม่มีหลักฐานสรุปชัดเจนว่า ทำให้เกิดมะเร็งได้ 

เท่าที่นักวิทยาศาสตร์พบก็มีอาทิเช่น
           
1.
คนอ้วนและการรับประทานอุดมด้วยไขมัน - งานวิจัยพบว่า ชาวอเมริกันที่บริโภคไขมันมาก และอ้วนมากเป็นมะเร็งเต้านมกันมาก อย่างไรก็ตาม การศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาดในผู้หญิงกว่า 89,000 คนก็ยังไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างไขมันกับมะเร็งเต้านม
            2.
วิตามิน - วิตามินซีและบี ไม่แสดงบทบาท ปกป้องมะเร็งเต้านม แต่วิตามินเออาจมีส่วนช่วยป้องกันได้ 
            3.
แอลกอฮอล์ - งานวิจัยหลายชิ้นแสดงว่า การดื่มสุราวันละ 2 แก้ว ขึ้นไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม แต่จริงๆ แล้วอาจเป็นผลจากเรื่องอื่น

การตรวจทางพันธุกรรมช่วยบอกปัจจัยเสี่ยง ต่อมะเร็งเต้านมได้หรือไม่ ?
           
เมื่อปี 2537 มีการค้นพบพันธุกรรม (GENE) BRCA1 และปี 2538 พบ BRCA2 ทำให้เกิดความตื่นเต้นอยากรู้อยากเห็นในหมู่ผู้หญิงว่า คุณหมอจะสามารถเจาะเลือดตรวจ ปัจจัยเสี่ยงที่แน่ชัดทีเสียได้หรือไม่ 

            ข้อจำกัดของการตรวจพันธุกรรมนี้คือ ความแม่นยำและประเด็นสำคัญคือ ถ้าเกิดตรวจพบหน่วยพันธุกรรมประจำตัวที่บ่งบอกว่า มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมแล้ว จะยินยอมพร้อมใจ หรือทำใจได้หรือไม่กับการให้หมอตัดเต้านมออก เพื่อกันมะเร็งเต้านมไว้ก่อน ?

ยาเม็ดคุมกำเนิดกับมะเร็งเต้านม
           
เพื่อสร้างความมั่นใจแก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ ที่ประสงค์จคุมกำเนิด ด้วยวิธีรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแต่กลัวเป็นมะเร็งเต้านม จึงมีการวิเคราะห์งานวิจัย 54 ชิ้น จาก 25 ประเทศแล้วพบว่า โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมไม่เพิ่มขึ้นในหญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นอายุใด ประวัติครอบครัวเป็นอย่างไร เชื้อชาติอะไร กินยาเม็ดคุมกำเนิดมานานเท่าใด เริ่มยาอายุเท่าไร

            เมื่อมีการตรวจพบเต้านมด้วยตนเอง หรือโดยเอกซเรย์แมมโมแกรมแล้ว ก่อนนัดพบคุณหมอควรจะเตรียมข้อมูลต่อไปนี้ 
            1.
วันเวลาที่ตรวจพบก้อน
            2.
ขนาดของก้อนและประวัติว่าก้อนมีการโตขึ้นหรือเล็กลงหรือไม่ 
            3.
คลำก้อนแล้วรู้สึกอย่างไร
            4.
ก้อนอยู่ตรงตำแหน่งใด
            5.
วันที่มีประจำเดือนครั้งล่าสุด
            6.
มีสารเหลวออกมาจากหัวนมหรือไม่ 
            7.
เคยมีปัญหาเต้านมในอดีตหรือเปล่า
            8.
ยาที่กำลังรับประทานอยู่ 
            9.
ประวัติครอบครัวของการเป็นมะเร็งเต้านม
            10.
เคยได้รับการผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อมาตรวจหรือไม่?

 

    

 

/ มะเร็งในระบบประสาท / มะเร็งของกระดูก / มะเร็งช่องปาก / มะเร็งกล่องเสียง

/ มะเร็งต่อมธัยรอยด์ / มะเร็งต่อมน้ำเหลือง / มะเร็งตับ / มะเร็งตับอ่อน / มะเร็งปากมดลูก /

/ มะเร็งมดลูก / มะเร็งรังไข่ / มะเร็งเต้านม / มะเร็งปอด / มะเร็งผิวหนัง /

/ มะเร็งต่อมลูกหมาก / มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก / มะเร็งเม็ดเลือดขาว /

/ มะเร็งถุงน้ำดีและท่อน้ำดี /