วิธีบำบัดรักษา  

            วิธีบำบัดรักษา
           
1. ระยะเริ่มเป็นอาจจะต้องใช้การผ่าตัด ฉายแสง หรือใส่แร่เรเดียม หรือจะต้องทำร่วมกันก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์ 
           
2. ใช้สารเคมี ฉายแสงรังสี ในรายซึ่งเป็นมากแล้ว เพื่อช่วยประทังให้คนไข้มีชีวิตอยู่ และบางรายก็จำเป็นต้องใช้การผ่าตัดช่วยด้วย เช่น มะเร็งของทวารหนัก ก็ต้องเปิดช่องทางเดินอุจจาระผ่านทางหน้าท้อง ผู้ป่วยก็อาจจะมีชีวิตยืนนานขึ้น มะเร็งในระยะเริ่มเป็น หรือเริ่มแรกอาจรักษาให้หายขาดได้กว่า 30% และมะเร็งในบางตำแหน่ง เช่น ผิวหนังก็อาจจะรักษาให้หายได้เกือบ 100% ที่เข้าใจว่าเป็นมะเร็งแล้วต้องตายนั้น ไม่เป็นความจริงเสมอไป

ยาเคมีบำบัด

            เป็นยา หรือสารเคมีที่ใช้ในการรักษามะเร็ง อาจให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอย่างเดียว หรือให้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่น ยาเคมีบำบัด เมื่อให้เข้าสู่ร่างกายจะไปทำลายเซลล์มะเร็ง และทำลายเซลล์ปกติบางส่วนด้วย ทำให้เกิดอาการข้างเคียงขึ้น

            ยาเคมีบำบัดจะเข้าไปขัดขวางขบวนการเจริญเติบโตของวงจรชีวิตเซลล์ทำให้เซลล์ตาย ยาแต่ละตัวออกฤทธิ์แตกต่างกันในการรักษา บางแผนการรักษาประกอบด้วยยาหลายชนิดที่ใช้ร่วมกัน

Picture

            อาการข้างเคียง
            ยาเคมีบำบัดมีผลกระทบต่อเซลล์ปกติด้วย โดยเฉพาะเซลล์ที่มีการเจริญ และแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เช่น เซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร, เส้นผม, เม็ดเลือด ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุของอาการข้างเคียง หรืออาการไม่พึงประสงค์ระยะหนึ่งในระหว่างการให้ยาแต่ละชุด เพื่อให้ร่างกายได้มีเวลาสร้างเซลล์ปกติขึ้นมาทดแทน

            อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อย
           
1. คลื่นไส้อาเจียน
            2. ผมร่วง
            3. แผลในปาก
            4. ปริมาณเม็ดเลือดลดลง

            อาการไม่พึงประสงค์ที่ต้องปรึกษาแพทย์ 
           
1. มีเลือดออกหรือเป็นแผลในปากมาก
            2. มีผื่นหรืออาการแพ้ 
            3. มีไข้ หนาวสั่น
            4. ปวดมากบริเวณที่ฉีด
           
5. หายใจลำบาก
            6. ท้องเดินหรือท้องผูกอย่างรุนแรง
           
7. ปัสสาวะหรืออุจจาระมีเลือดปน

            อย่างไรก็ตาม อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นจะหายไป เมื่อสิ้นสุดการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งอาการไม่พึงประสงค์จะขึ้นกับชนิดของยาเคมีบำบัดที่ได้รับ และปฏิกิริยาตอบสนองต่อยาของร่างกายผู้ได้รับยาเคมีบำบัดนั้น ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดขึ้นจากการได้รับยา เพื่อบรรเทาอาการให้น้อยลง หรืออาจพิจารณาปรับแผนการรักษา ถ้าเกิดมีอาการรุนแรง อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิด ไม่ได้หมายความว่าอาการของโรคมะเร็งเป็นมากขึ้น และความรุนแรงของอาการไม่พึงประสงค์ ก็ไม่มีความสัมพันธ์กับผลของยาเคมีบำบัดต่อเซลล์มะเร็ง

ศัลยกรรมในผู้ป่วยมะเร็ง

            โดยทั่วไปแล้วคำว่า "ศัลยกรรม" หมายถึง การรักษาโรคโดยวิธีผ่าตัด ดังนั้น "ศัลยกรรม" ในผู้ป่วยมะเร็งจึง หมายถึง การรักษาโรคมะเร็งด้วยการผ่าตัด การผ่าตัดที่ใช้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งนั้น มีหลายลักษณะแบ่งออกตามวัตถุประสงค์ของการผ่าตัดได้ ดังนี้
             1. การผ่าตัดเพื่อการวินิจฉัย(Biopsy) เป็นการตัด หรือขลิบชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้องอก หรืออวัยวะที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งส่งตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อการพิสูจน์ และวินิจฉัยโรค วิธีนี้จะสามารถยืนยันได้ว่าเนื้องอก หรืออวัยวะนั้นๆ เป็นเนื้องอกธรรมดา หรือมะเร็ง การตัดชิ้นเนื้อเพื่อพิสูจน์ดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ

            2. การผ่าตัดเพื่อการรักษา ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นมะเร็งระยะเริ่มแรก หรือกรณีที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่ โดยหวังผลในการรักษา คือ ให้ผู้ป่วยหายขาดเมื่อได้รับการผ่าตัด
            3. การผ่าตัดแบบการรักษาแบบประคับประคอง วิธีนี้ใช้ในกรณีที่ที่โรคลุกลามมาก หรือกรณีที่ต้องการลดขนาดของก้อนมะเร็ง เพื่อการรักษาแบบผสมผสานกับวิธีอื่นต่อไป เช่น การฉายรังสี หรือการให้ยาเคมีบำบัด เป็นต้น สำหรับวิธีนี้สามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ คือ ลดความทุกข์ทรมานอันเกิดจากความเจ็บปวด หรือแผลเน่าเหม็นได้ 

การรักษามะเร็งตามหลักสากลที่ปฏิบัติกันอยู่ในประเทศไทย

            การรักษามะเร็งตามหลักสากลที่ปฏิบัติกันอยู่ในประเทศไทย คือ การรักษามะเร็งแบบวิธีผสมผสานของ
            1. ศัลยกรรม(ผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกรวมทั้งต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้าง)
            2. รังสีรักษา (ฉายแสงบริเวณที่มีเซลล์มะเร็งอยู่ เป็นการรักษาแบบเฉพาะที่เช่นเดียวกับวิธีของศัลยกรรม)
            3. เคมีบำบัด (การรักษาหรือการทำลายเซลล์มะเร็งทั้งที่ต้นตอ และที่กระจายไปตามทางเดินน้ำเหลือง กระแสเลือด หรืออวัยวะอื่นของร่างกาย เป็นการรักษามะเร็งแบบทั้งตัวของผู้ป่วยมะเร็ง โดยการรับประทานยาที่มีความสามารถในการฆ่า หรือทำลายเซลล์มะเร็ง โดยการฉีดยาทางหลอดเลือดดำหรือแดง เป็นต้น)
            4. การใช้ฮอร์โมน เนื่องจากมะเร็งบางชนิดมีความไวต่อการรักษาด้วยฮอร์โมน
            5. การรักษาโดยการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เพื่อที่จะได้กำจัดเซลล์มะเร็งให้หมดไปจากร่างกาย และผู้ป่วยก็จะหายจากโรคมะเร็ง 

            เนื่องจากการรักษาโดยการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาอยู่ ต้องการข้อมูลอีกมากมาย เพื่อยืนยันว่าได้ผลในการรักษามะเร็ง ดังนั้น วิธีนี้จึงเริ่มเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย มีการนำยา หรือสารเคมีในกลุ่มนี้มาใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด 

            เพื่อให้การรักษาดีขึ้น มะเร็งแต่ละกลุ่ม หรือแต่ละชนิดจะได้รับการรักษาแบบผสมผสานที่ไม่เหมือนกัน เพราะว่ามะเร็งบางชนิดมีการตอบสนองต่อการรักษาทางศัลยกรรม และรังสีรักษาดี เช่น มะเร็งผิวหนัง ก็ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยเคมีบำบัด หรืออื่นๆ  มะเร็งบางชนิดมีการตอบสนองต่อเคมีบำบัด และรังสีรักษาดี ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีศัลยกรรม เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น มะเร็งเต้านมในผู้ป่วยบางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในวัยหลังหมดระดู จะมีการตอบสนองต่อการรักษาโดยการใช้ฮอร์โมนหลังจากที่ผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งต้นตอออกไปแล้ว

              ดังนั้น  จะเห็นว่าการรักษามะเร็งแต่ละชนิด   หรือการรักษามะเร็งแต่ละกลุ่ม    มีความแตกต่างกันแม้แต่การผสมผสานวิธีการรักษามะเร็ง   แต่ละวิธีก็ไม่เหมือนกัน

ยาที่ใช้ในการรักษามะเร็ง

            Xeloda May 1999, ทาง FDA (Food and Drug Admitstration) ของประเทศสหรัฐให้อนุมัตบริษัท Hoffmann-Roche จัดจำหน่ายยารักษามะเร็ง Xeloda ภายใต้โปรแกรมพิเศษ และอย่างรีบด่วนกับยามหัศจรรย์ที่สร้างความหวังอย่างมากมายตัวนี้ ใน Clinic ยา Xeloda สามารถลดขนาดเนื้องอกมะเร็งได้ถึงครึ่งหนึ่งในจำนวน 25% ของคนไข้ที่เชื้อมะเร็งเริ่มกระจายแล้ว และก็ไม่ยอมรับยาอื่นในรูปแบบของสารเคมีบำบัดแล้ว (Chemotherapy) ถึงแม้ว่าทาง FDA ของสหรัฐรีบปล่อยยาที่สร้างความหวังตัวนี้ออกมาอย่างรีบด่วน ผลข้างเคียง (Side Effect) ก็ยังมีมากมายเหมือนสารยาเคมีบำบัด (Chemotherapeutic Agents) อาการ เช่น ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย แผลในปาก อาการมือกับเท้าขาดความรู้สึก (hand-food syndrome) บวม และเจ็บปวด อย่างไรก็ตาม Linda Vahdat, M.D., director of the Transplant Program for Breast Cancer at Columbia-Presbyterian Medical Center in New York กับคณะสอบสวนยาตัวนี้ที่เริ่มทดลองครั้งแรกใช้กับคนไข้ที่เชื้อมะเร็งกระจายออกแล้ว และก็ไม่ยอมรับยาตัวอื่นด้วย กล่าวว่า "ในที่สุดก็มียารักษามะเร็งที่มีสมรรถภาพสูง ที่คนไข้สามารถรับประทานได้เองที่บ้าน" ปัจจุบันยาตัวนี้อยู่ในระหว่างการค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อเป็นที่มั่นใจ 

            ็ำHerceptin ยาตัวใหม่นี้มาแรงเปรียบเสมือนม้ามืดตัวใหม่ ในการทดลองขั้นสามของคณะวิจัยที่ The Revion/UCLA Women's Cancer Research กล่าวว่ายามหัศจรรย์ตัวนี้ เมื่อใช้ควบคู่กับ Texol (ซึ่งเป็นยาที่มีสมรรถภาพที่สูงสุดในปัจจุบันนี้) สามารถลดขนาดเนื้องอกมะเร็งได้ถึงครึ่ง Herceptin ช่วยให้เนื้องอกมะเร็งรับกับยา Taxol ได้ดี เนื่องจากข่าวความสำเร็จของยาตัวนี้ถูกแพร่อย่างรวดเร็ว ทำให้ยาตัวนี้เป็นที่นิยมมากที่สุด และเกิดการขาดแคลน The National Cancer Institute ได้จัดตั้งให้มีระบบลอตโต้ เพื่อการจัดจ่ายยาตัวนี้ เมื่อเดือนกันยายน บริษัท Genentech ซึ่งเป็นบริษัทผลิตยาอยู่ใน San Francisco ผู้ค้นพบ Herciptin กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทได้ผลิตยาพอที่จะจำหน่ายให้กับทุกคนในรายชื่อลอตโต้ FDA ได้อนุมัติ trastuzumab (trade name Herceptin) เมื่อเดือนกันยายน เป็นยา monoclonal antibody ที่อนุญาตให้ใช้เป็นยารักษามะเร็ง เป็นตัวที่สองที่ FDA ของสหรัฐอนุมัติตั้งแต่ Rituxan อนุมัติเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1997

            Tamoxifen เป็นยาที่มีบทบาทสำคัญในการรักษามะเร็งเต้านมมานานกว่า 2 ทศวรรษ จากการศึกษาของสถาบันมะเร็งแห่งชาติในสหรัฐได้เปิดเผยว่า Tamoxifen สามารถลดอัตราการเกิดมะเร็งเต้านมได้เกือบร้อยละ 50 ในผู้หญิงที่มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ดร. ริชาร์ด แพทย์ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติได้แถลงว่ามะเร็งเต้านมสามารถป้องกันได้นอกจากนี้ งานวิจัยของนักวิจัยชาวอังกฤษยืนยันว่า ในผู้ป่วยที่ได้รับยาตัวนี้จะไม่กลับเป็นมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัดอีกด้วย ข้อดีของยาตัวนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่มีผลข้างเคียงจากการใช้ยาตัวนี้

            Raloxifene เป็นที่รู้จักกันดีว่า สามารถรักษาโรคกระดูกพรุนได้ผล และขณะนี้ยาตัวนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยว่า สามารถใช้ป้องกันโรคมะเร็งเต้านม ดร. สตีเวน และคณะจากมหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนียในซานฟรานซิสโก ได้ทำการศึกษาผู้หญิงจำนวน 7,705 รายที่ใช้ยาตัวนี้ในการรักษาโรคกระดูกพรุน ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอัตราการเกิดโรคมะเร็งเต้านมลดลงถึงร้อยละ 70 และลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม จากการได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนในสตรีวัยหมดประจำเดือน ทั้งนี้เพราะยาตัวนี้จะจับฮอร์โมนเอสโตรเจน และป้องกันผลก่อมะเร็งจากฮร์โมน อย่างไรก็ดี แม้ว่ายานี้มีผลดีต่อการักษา ผลข้างเคียงจากยาก็มีค่อนข้างมาก ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ร้อนวูบวาบ เป็นตะคริวที่ขา นอกจากนี้ยังเพิ่มอัตราเสี่ยงต่ออันตราจากการแข็งตัวของเลือด

ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่ใช้เคมีบำบัด

           วิธีให้เคมีบำบัด
           
แพทย์จะสั่งใช้ยารักษาโรคมะเร็งชนิดใดขึ้นอยู่กับชนิด และตำแหน่งของมะเร็ง และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ปัจจุบัน การใช้ยารักษาโรคมะเร็งร่วมกันหลายชนิด จะให้ผลที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ยาชนิดเดียวกัน

            การให้ยารักษาโรคมะเร็งมีหลายวิธี ยามีทั้งชนิดน้ำ ชนิดเม็ด ชนิดฉีด ยารักษาโรคมะเร็งเวลาใช้ไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดมากไปกว่ายาที่ใช้รักษาโรคทั่วๆ ไป

            ยาชนิดรับประทาน
           
เคมีบำบัดชนิดรับประทานมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เพราะเป็นวิธีให้ยาผู้ป่วยที่สะดวกที่สุด เมื่อกลืนยาลงไปจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดทางเยื่อบุผนังกระเพาะอาหาร และเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก ยาบางชนิดไม่สามารถให้ทางวิธีนี้ได้ เพราะอาจทำลายเยื่อบุผนังกระเพาะอาหาร ดังนั้น ยาบางชนิดสามารถให้ได้โดยวิธีฉีดเท่านั้น  

            ยาฉีดชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
           
ยาบางชนิดมีประสิทธิภาพดีที่สุด เมื่อถูกปล่อยอย่างช้าๆ เข้าสู่กระแสเลือด ยาชนิดนี้จะถูกฉีดเข้ากล้ามเนื้อมากกว่าฉีดเข้าหลอดเลือดโดยตรง

            ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือผสมกับของเหลวอื่นที่ให้ทางหลอดเลือดดำ
           
ยาที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง หรือทำลายเนื้อเยื่อจะถูกฉีดเข้าหลอดเลือดดำ และกระแสเลือดโดยตรง ดังนั้น กระแสเลือดจะทำให้ยาเจือจางอย่างรวดเร็ว และเริ่มทำงานได้ทันที 

            การรักษาที่บ้าน
           
การให้เคมีบำบัดแก่ผู้ป่วยนอก ไม่จำเป็นต้องพักที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาเองได้ สำหรับยาฉีดต้องให้แพทย์ หรือพยาบาลเป็นผู้ให้ที่คลินิก หรือที่บ้านไม่จำเป็นต้องไปฉีดที่โรงพยาบาล

            เคมีบำบัดชนิดรับประทานสะดวกที่สุด เพราะผู้ป่วยรับประทานเองได้ เมื่อรับประทานยาเองที่บ้าน คำแนะนำของแพทย์เกี่ยวกับใช้ยา และเวลาควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ยารับประทานอาจจะผสมน้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่ม เพื่อให้รสชาติดีขึ้น ถ้ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ 

           อาหาร และกิจวัตรประจำวัน
           
1.
อาหาร การรักษาสมดุลของอาหารเป็นสิ่งสำคัญ การบำรุงด้วยอาหารที่ดีช่วยให้ผู้ป่วยต่อสู้กับโรคต่างๆ ได้ อธิบายอาหารประจำวันแก่แพทย์ ซึ่งแพทย์อาจมีข้อแนะนำให้ปรับปรุงเกี่ยวกับอาหารประจำวัน เพื่อให้ได้สารอาหารแบบสมบูรณ์ ผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัดอาจมีความอยากรับประทานอาหารน้อยกว่าปกติ ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารแต่น้อย วันละ 5-6 ครั้ง แทนที่จะรับประทานวันละ 3 มื้อ มื้อละมากๆ ยาต้านมะเร็งบางครั้ง มีผลทำให้รสชาติของอาหารเปลี่ยนแปลง มีรายงานว่า ผู้ป่วยจำนวนมากความอยากรับประทานอาหารเนื้อสัตว์สีแดงหายไป เพราะว่าเคมีบำบัดทำให้รสชาติของอาหารขม เราอาจทำให้รสชาติของอาหารดีขึ้นโดยใช้ซอสถั่วเหลือง หรือน้ำผลไม้ช่วยในการปรุงอาหาร ภาชนะโลหะซึ่งสามารถทำให้รสชาติของอาหารขม ใช้ภาชนะพลาสติกสามารถลดความขมลงได้ 

            ยาต้านมะเร็งบางชนิด มีผลกระทบต่อกระเพาะปัสสาวะ และไต อาจต้องรับประทานน้ำ หรือของเหลวเพิ่ม ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์ควรตระหนักว่า แอลกอฮอล์เป็นยาชนิดหนึ่ง ปรึกษาแพทย์ว่าแอลกอฮอล์แทรกแซงยาต้านมะเร็งหรือไม่ อาจต้องจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ระหว่างได้รับเคมีบำบัดอยู่ ปรึกษากับแพทย์ถึงการเปลี่ยนแปลงความอยากอาหาร หรือนิสัยของการรับประทานอาหาร ผู้ป่วย และแพทย์ต้องร่วมมือกันเพื่อให้ได้รายการอาหารที่มีสาร อาหารที่เป็นประโยชน์ และผู้ป่วยสามารถปฏิบัติได้ 

          2. กิจวัตรประจำวัน ให้ทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ นอกจากแพทย์แนะนำเป็นอย่างอื่น อย่างไร ก็ตามผู้ป่วยจำเป็นต้องพัก 1 ถึง 2 วัน หลังจากได้รับเคมีบำบัดแต่ละครั้ง ถ้าผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลียติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน มีอาการมึนงง รู้สึกหนาวสั่น หรือมีอาการหายใจไม่ออก แจ้งให้แพทย์ทราบทันทีอาจเป็นสัญญาณบอกถึงอาการโรคโลหิตจาง ซึ่งเป็นสภาพที่จำนวนเม็ดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ ถ้าแพทย์บอกว่ามีอาการโลหิตจางให้พักผ่อนให้มาก รับประทานผักใบเขียว เนื้อสัตว์ และตับเพิ่ม เคลื่อนไหวอย่างช้าๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการมึนงง ถ้าปฏิบัติตามนี้แล้วยังคงมีอาการมึนงงให้ปรึกษาแพทย์ และพยาบาล

            ห้ามใช้ยาทุกชนิด รวมทั้งแอสไพรินเพื่อบรรเทาอาการไข้ และให้ปรึกษาแพทย์

มะเร็งกับธรรมชาติบำบัด  

            วงการแพทย์แผนปัจจุบัน หรือแผนตะวันตก (WESTERN MEDICINE) เริ่มยอมรับอย่างกว้างขวางขึ้นแล้วว่า วิธีการรักษามะเร็งของฝ่ายตนไม่สามารถเอาชนะโรคมะเร็งได้ทุกชนิด จากเดิมที่เคยตั้งข้อรังเกียจวิธีรักษาอื่นๆ ทั้งแบบกลางบ้าน ภูมิปัญญาโบราณ ธรรมชาติบำบัด ก็กลับเปิดใจกว้างยอมรับฟังแนวทางรักษา และมีแนวโน้มว่า จะสามารถนำมาผสมผสานให้เกิดการรักษาร่วมกันได้ อย่างในเดือนมิถุนายน ทั้งสองฝ่ายจะร่วมประชุมกันที่กรุงวอชิงตันในสหรัฐอเมริกา เรียกว่า "การบำบัดมะเร็งประจำปีครั้งที่ 2 การใช้เวชศาสตร์ทางเลือกร่วมกับเวชศาสตร์เสริมในการรักษา" โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแสวงหาบูรณาการทางวิธีรักษามะเร็งทั้งสองแบบเข้าด้วยกัน อันเป็นที่ยอมรับได้ทั้ง 2 ฝ่าย

            ปีที่แล้วมีผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NCI) และสมาคมปราบมะเร็งอเมริกาไปร่วมงานประชุมหลายคน ปีนี้ NCI ใจป้ำถึงขนาดร่วมอุปถัมภ์การประชุมเลยทีเดียว มีรายงานว่าทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติกำลังศึกษาวิจัยประสิทธิภาพผลของชาเขียว ในการบำบัดรักษาโรคมะเร็งอยู่ ส่วนสมาคมปราบมะเร็งยังกล้าๆ กลัวๆ ยังไม่ยอมกระโดดเข้ามาเต็มตัว โดยขอให้ทุกฝ่ายมีความระมัดระวังในการใช้วิธีรักษาที่ยังพิสูจน์ยืนยันไม่ได้แน่ชัด และขอให้ช่วยกันจัดหาข้อมูลการรักษาวิธีต่างๆ มานำเสนอ

            ในระดับคลินิก และศูนย์มะเร็งต่างๆ ของโรงพยาบาลหลายแห่งของสหรัฐอเมริกายังถกเถียงกันอยู่ โดยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย แต่ละฝ่ายก็เชื่อในวิธีการของตน บางคนกล่าวหาว่าการรักษาแบบเวชศาสตร์ทางเลือกเหมือนหมอตำแย ขณะที่ฝ่ายเวชศาสตร์ทางเลือกโจมตีเวชศาสตร์ตะวันตกว่า เป็นแผนร้ายของวงการแพทย์แผนปัจจุบันร่วมกับบริษัทยาที่จะทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตน

            คำตอบที่แท้จริงขึ้นอยู่กับว่าท่านผู้อ่านถามใคร ?

            แน่นอนล่ะว่า วงการแพทย์แผนปัจจุบันใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ หมอมะเร็งส่วนใหญ่จึงไม่ยอมรับวิธีการนอกรูปแบบ แต่ก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากคนไข้ที่รุมเร้าขอลองวิธีแปลกๆ บ้าง

            จะอย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้มีประชาชนราวร้อยละ 40 ที่ใช้เวชศาสตร์ทางเลือก (ALTERNATIVE MEDICINE) ในการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บของตน ส่วนคนไข้มะเร็งก็มีตั้งแต่ร้อยละ 10-50 ที่ใช้วิธีการดังกล่าวอยู่หลายต่อหลายโรงพยาบาล จึงเปิดศูนย์เวชศาสตร์ทางเลือกไว้บริการท่ามกลางความไม่ค่อยสบอารมณ์ของหมอมะเร็งแผนใหม่ 

            มีรายงานตัวอย่างผู้หญิงวัย 48 ปี ชื่อ คารอล โลเปซ ซึ่งตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ที่รัฐฟลอริดา เมื่อ 3 ปีก่อนหน้านี้ เธอไปรับการถ่ายภาพเอกซเรย์ของเต้านมที่เรียกว่า "แมมโมแกรม" (MAMMOGRAM) และรังสีแพทย์สงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง ศัลยแพทย์ใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อมาตรวจก็ยังยืนยันไม่ได้ว่า เป็นจริงหรือเปล่า แต่หมอมะเร็ง (ONCOLOGIST) ประจำตัวของเธอบอกว่าควรเริ่มการรักษาเสมือนว่า เป็นมะเร็งจะดีกว่า คุณโลเปซได้ยินเข้าก็แทบช็อก เพราะนั่นหมายความว่า เธอจะต้องถูกจับฉายแสงและให้เคมีบำบัดจะหัวโกร๋นเป็นแน่แท้ อย่ากระนั้นเลยขอปฏิเสธไว้ก่อน หมอคนนั้นกลับโกรธจัดแล้วแสดงอารมณ์กับเธอเพราะนานๆ ทีจึงจะมีคนไข้ซักถาม เหมือนไม่เชื่อในความสามารของท่าน

            เธอจึงดอดไปที่เมโยคลินิกในมลรัฐมินเนโซตา ซึ่งศัลยแพทย์ตัดเฉพาะก้อนที่สงสัยว่า จะเป็นมะเร็งออกโดยยังเก็บเต้านมเอาไว้ หมอบอกว่าเป็นมะเร็งจริงๆ แต่เป็นชนิดที่ไม่ร้ายแรงนัก อย่างไรก็ตาม เธอควรจะได้รับการฉายแสง ซึ่งเธอปฏิเสธ ด้วยเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อหัวใจที่อยู่ใต้เต้านม แล้วหันไปรับประทานอาหารมังสวิรัตร่วมกับวิตามินที่ไปอ่านเจอมา แต่ยังใจดีสู้เสือแวะไปหาหมอมะเร็งเป็นระยะๆ เพื่อเจาะเลือดตรวจดูว่ามะเร็งกำเริบหรือยัง เวลาผ่านไป 18 เดือนหลังผ่าตัดครั้งแรก แม้ว่าผลเลือดจะยังปกติอยู่ แต่เธอคลำก้อนใหม่ได้ที่บริเวณแผลผ่าตัดเดิม หมอตัดชิ้นเนื้อดังกล่าวไปตรวจแล้วบอกว่า เป็นมะเร็งชนิดเดิมพร้อมทั้งเสนอให้ฉายแสง

            ด้วยการมุ่งมั่นที่จะปฏิเสธการฉายแสง เธอจึงย้ายไปรักษาที่สถาบันวิจัย เบอร์ซินสกี้ (BURZYNSKI RESEARCH INSTITUTE) ที่เมืองฮุสตันในมลรัฐเท็กซัส เพื่อรับการรักษาด้วยวิธีเบอร์ซินสกี้ โดยใช้ยาราคาแพงชื่อแอนตี้นีโอพลาสตอน (ANTINEOPLASTONS)

             ความที่มัวเทียวไปเทียวมาเปลี่ยนหมอหลายแห่ง ทำให้เวลาผ่านไป 2 ปีเศษกว่า เธอจะได้รับการถ่ายภาพคอมพิวเตอร์เอกซเรย์เป็นครั้งแรกตามที่กำหนดไว้ในวิธีเบอร์ซินสกี้ว่า คนไข้ต้องถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลังการรักษาด้วยวิธีนี้ 6 เดือน ผลปรากฏว่า มะเร็งได้ลุกลามไปที่ตับของเธอแล้ว แต่เธอก็ยังเถียงตัวเองว่า มะเร็งที่ตับอาจมีมาก่อน ใช้ยาแอนตี้นีโอพลาสตอนก็ได้ อย่างไรก็ตามเธอต้องเข้ารับการผ่าตัดช่องท้อง เพื่อให้ศัลยแพทย์ตัดตับส่วนที่มีมะเร็งออก หมดเงินส่วนตัวไป 120,000 เหรียญสหรัฐ เพราะบริษัทประกันสุขภาพปฏิเสธที่จะจ่ายต่ายาแอนตี้นีโอพลาสตอน เพราะเป็นเวชศาสตร์ทางเลือกที่ไม่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันสุขภาพ

            ขณะนี้เธอเทียวไปเทียวมาที่รัฐอิลลินอยส์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ทุกๆ เดือน เพื่อรับการรักษาแบบผสมผสานจากสถาบันแห่งใหม่ชื่อ INSTITUE FOR INTERATIVE CANCER CARE AND BLOCK MEDICAL CENTER ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์มะเร็งไม่กี่แห่ง ที่ยอมใช้วิธีผสมผสานระหว่างเคมีบำบัด แบบแผนปัจจุบันฉีดเข้าเส้นขนาดน้อยหน่อยทุกวัน เป็นเวลา 5 วันเพื่อลดอาการข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ สารอาหารและพืชผักไม้ใบหญ้า การบำบัดแบบจีนที่เรียกว่า การบริหารกายจี้กง, การนวด, การให้คำปรึกษา และคำแนะนำด้านโภชนาการ

            เธอรู้สึกว่าร่างกายทั่วไปอยู่ในสภาพดี ภาพรังสีของกระดูกและคอมพิวเตอร์เอกซเรย์ ไม่ส่อเค้าของมะเร็งที่ใดๆ ในร่างกาย ก้อนที่เต้านมที่ยังอยู่ก็ไม่โตขึ้น

            ท่านผู้อ่านที่สนใจอยากจะรักษาโรคด้วยวิธีการผสมผสานในเมืองไทยอาจจะต้องคอยถามไถ่ สดับตรับฟังเพราะเพราะ "ใกล้หมอ" เองก็ไม่รู้ว่าที่ศูนย์ไหนในบ้านเราที่รักษาตามใจคนไข้ แต่ขอเรียนว่าค่อยๆ แสวงหาไปเพราะส่วนใหญ่ไม่มีอะไรรีบด่วนอยู่แล้วเรื่องอย่างนี้ 

            วิธีเผื่อเลือกที่มีบันทึกไว้มี อาทิเช่น
   
       1. อาหารและโภชนาการบำบัด มีอาหารและสารอาหารบางชนิด ที่กำลังเป็นที่สนใจวิจัยและจัวตามองด้วยความตื่นเต้นว่าจะมีศักยภาพในการรักษามะเร็ง เพราะมะเร็งบางชนิดอย่างเช่นมะเร็งเต้านมในหญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว มะเร็งมดลูกและมะเร็งต่อมลุกหมาก อาจชะลอการเติบโตได้ถ้าเลือกบริโภคอาหารได้ถูกต้อง อาหารที่ว่านี้ก็ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย เช่น อาหารจากถั่วเหลือง, เห็ดชิตาเกะ

            งานวิจัยจากศูนย์มะเร็ง เมโมเรียล สโลน เค็ทเทอริ่ง ในกรุงนิวยอร์คบอกว่า วิตามิเอ ร่วมกับเคมีบำบัดสามารถทำให้คนไข้มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Promyelocytic หายชั่วคราวได้ในผู้ป่วย 70% ขณะเดียวกันการรับประทานวิตามินอี วันละ 200 หน่วย (INTERNATIONAL UNIT) จะชะลอการลุกลามของมะเร็งต่อมลูกหมาก และอาจรวมถึงมะเร็งเต้านมด้วย

            น้ำมันปลาซึ่งมีกรดไขมันโอเมก้า 3 เห็ดชิตาเกะและไมตาเกะช่วยชะลอการเติบโต ของมะเร็งโดยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายนี่เป็นรายงานจากญี่ปุ่น

            หมอแผนทางเลือกหลายคนจึงคิดค้นอาหารพิเศษต่างๆ ไว้เป็นตำรับเฉพาะตัว เพื่อมุ่งต่อต้านการเกิดออกซิเดชัน อันก่อพิษต่อร่างกายและนำไปสู่การเป็นมะเร็ง บ้างก็ใช้วิตามิน เกลือแร่และน้ำย่อยจากตับอ่อน

            เรื่องอาหารจึงเปิดกว้างเพราะยังไม่มีข้อสรุปยืนยันตามหลักวิทยาศาสตร์ คงยังเป็นเรื่องของความสังเกตความเชื่อแล้วบอกต่อ อย่างข้าวกล้อง+น้ำแครอท และผักกาดสู้มะเร็งเต้านม ก็มีการลอง

            2. ชาเขียว งานวิจัยจาประเทศญี่ปุ่นตีพิมพ์ในวารสารการวิจัยโรคมะเร็ง รายงานว่าคนไข้มะเร็งเต้านม ซึ่งดื่มชาเขียววันละ 5 แก้วขึ้นไปจะมีการกำเริบของมะเร็ง น้อยกว่าคนที่ไม่ดื่ม ยิ่งถ้าเคยดื่มมาก่อนเป็นมะเร็งยิ่งได้เปรียบชาเขียว จะไปเสริมฤทธิ์ของเคมีบำบัด งานวิจัยที่สหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับชาเขียว จะออกไปใน 2 ปีข้างหน้า

            3. เมลาโตนิน (MELATONIIN) ฮอร์โมนธรรมชาติตัวนี้ หลายปีก่อนฮิตมากกว่าจะช่วยในการนอนหลับและมีผู้อ้างว่าเป็นยาอายุวัฒนะ เสร็จแล้วก็ฝ่อหายหน้าไป เดี๋ยวนี้กลับมาใหม่โดยมีผู้อ้างว่าช่วยยืดชีวิตของคนเป็นมะเร็ง ระยะสุดท้ายได้ งานวิจัยจากประเทศอิตาลีเมื่อเร็วๆ นี้ รายงานว่าร้อยละ 40 ของคนไข้มะเร็ง ที่รับประทานเมลาโตนินวันละ 10 มิลลิกรัมจะมีขนาดมะเร็งคงที่หลังจากนั้น 3 เดือน นักวิจัยคาดว่าเมลาโตนินอาจช่วยเสริมฤทธิ์ของเคมีบำบัดได้ 

            4. วิธีบำบัดแบบเบอร์ซินสกี้ มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อที่ว่า ร่างกายของคนปกติจะสร้างสารต้านมะเร็งชื่อแอนตี้นีโอพลาสตอน (ANTINESPLASTON) ซึ่งเป็นสารที่สามารถสังเคราะห์ขึ้นได้ในห้องทดลอง อย่างไรก็ตาม การใช้สารแอนตี้นีโอพลาสตอน ยังอยู่ในระหว่างการวิจัย แต่ก็เป็นสารที่แพงเอาการ ปีหนึ่งๆ ต้องเสียเงิน ถึง 35,000-60,000 เหรียญสหรัฐ

            5. กระดูกอ่อนฉลาม มีหลักฐานว่ากระดูกอ่อนจากครีบฉลาม สามารถยับยั้งการเกิดเส้นเลือดในสัตว์ทดลองตามทฤษฎีจึงอาจใช้รักษามะเร็ง โดยทำให้มะเร็งอดอยากจนการขาดเลือดหล่อเลี้ยง งานวิจัยที่ใช้ลองรับประทานกระดูกอ่อนฉลาม ในคนไข้มะเร็งระยะสุดท้ายเป็นเวลา 12 สัปดาห์ไม่เกิดผล แต่ก็มีผู้เถียงว่า ถ้าจะให้ได้ผลต้องรับประทานแต่ระยะแรกๆ ของมะเร็ง

            6. การใช้ความร้อนทำลายมะเร็ง (Hyperthermia) การทำให้ร่างกายร้อนขึ้นกว่าปกติจะช่วยทำลายมะเร็งได้นั้น เป็นความเชื่อที่ฮือฮามากเมื่อ 20 ปีก่อน ข้อควรระวังคือ ความร้อนอาจฆ่าเจ้าของร่าง ที่เป็นมะเร็งได้ด้วย นอกจากว่าจะควบคุมอุณหภูมิได้ตามที่กำหนด ขณะนี้จึงมีการวิจัยราว 10 งานภายใต้การอุปถัมภ์ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ 

            7. ยาเลทรีล (LAETRILG) นี่ก็เป็นสารเคมีที่ปรากฏอยู่ ในผลไม้อปริคอท (APRICOT) ซึ่งเชื่อว่าทำลายมะเร็งได้ ในหลายมลรัฐของสหรัฐอเมริกา จะมีการห้ามจำหน่ายเพราะกลัวคนไข้ถูกหลอก แต่ก็ยังเป็นยาฮิตติดอันดับในหมู่คนไข้มะเร็ง ที่หมดทางรักษาแม้ว่าผลการทดลองบอกว่าไม่ได้เรื่องก็ไม่ฟัง

            โดยสรุปแล้ว คนเราเวลาหมดหนทางแต่ไม่หมดสิ้นความหวังก็ย่อมดิ้นรนหาทางไปเรื่อยๆ ตราบที่ยังมีลมหายใจอยู่ ความเชื่อความศรัทธาและกำลังใจบ่อยครั้ง ก็เป็นปัจจัยต่อสู้โรคที่ทรงพลังอย่างประหลาด

            ขอให้มีกำลังใจและอย่างสิ้นหวัง

 

    

 

/ โรคมะเร็ง / การตรวจโรคมะเร็ง / สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง / การป้องกัน

/ ลักษณะอาการ / โรคมะเร็งชนิดต่างๆ / วิธีบำบัดรักษา / แหล่งที่มา /