Picture

   มะเร็งปอด  

            ในประเทศไทยมะเร็งปอดเป็นโรคที่พบมาก และเป็นสาเหตุการตายในอันดับต้น ทั้งในเพศชาย และหญิง อุบัติการณ์โรคกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเพศหญิง ผู้ป่วยมะเร็งปอดส่วนใหญ่ (80-90%) เกิดจากการสูบบุหรี่จึงสามารถป้องกันได้ ธรรมชาติทางชีววิทยาของมะเร็งปอด ทำให้เราพบผู้ป่วยเมื่อเริ่มมีอาการในขณะที่โรคอยู่ในระยะลุกลาม และแพร่กระจาย เป็นผลให้ผู้ป่วยประมาณ 90% เสียชีวิตจากโรคมะเร็งภายในเวลา 1-2 ปี มะเร็งปอดพบมากในคนอายุ 50-75  ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (80%) จะเป็นผู้ที่สูบบุหรี่ และประมาณ 5% จะเป็นผู้ที่ต้องสูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่น ผู้ที่สูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่น จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 26% จำนวนมวนของบุหรี่ที่สูบต่อวัน และชนิดของบุหรี่ที่สูบ จะสัมพันธ์กับอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด ผู้ที่สูบบุหรี่ 10-13% จะเกิดมะเร็งปอดภายในเวลา 30-40 ปี อย่างไรก็ตาม ถ้าเลิกสูบบุหรี่ ก็สามารถลดอัตราการเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดลงเหลือเท่าผู้ไม่สูบบุหรี่ได้ภายในเวลา 10-15 ปี ผู้ที่สูบบุหรี่ และเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะยิ่งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งปอด

            สารก่อมะเร็งที่อาจเป็นสาเหตุของโรคในผู้ป่วย 10-15% ซึ่งไม่สูบบุหรี่ ได้แก่ แอสเบสตอส  (ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ทำงานในโรงงานผลิตผ้าเบรครถยนต์ เป็นต้น) โดยเฉพาะถ้าผู้นั้นสูบบุหรี่ด้วย จะยิ่งเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งสูงถึง  50 เท่า สารก่อมะเร็งอื่น ได้แก่ แร่เรดอน มลภาวะในอากาศจากอุตสาหกรรมโลหะหนัก ควันมลภาวะในสิ่งแวดล้อม การฉายรังสีเพื่อรักษามะเร็งชนิดอื่นก็อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งปอดได้ โดยเฉพาะผู้สูบบุหรี่ร่วมด้วย นอกจากนี้ ปัจจัยทางพันธุกรรมก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย มะเร็งปอดเป็นโรคที่ตรวจค้นหาในระยะเริ่มแรกได้ยาก การนำเอาผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง (ผู้ชายสูบบุหรี่อายุเกิน  40 ปี) มาตรวจเสมหะ และเอ็กซเรย์ปอด เพื่อพยายามจะลดอัตราการตายจากโรคมะเร็ง พบว่า สามารถพบผู้ป่วยมะเร็งในระยะเริ่มแรกมากขึ้น แต่ไม่สามารถลดอัตราตายลงได้ การล้มเหลวจากการนี้เชื่อว่า เนื่องจากมะเร็งปอด แม้จะมีขนาดเล็กก็พบการแพร่กระจายได้สูง มะเร็งปอดมักจะเริ่มมีอาการเมื่อโรคลุกลามมากแล้ว อาการที่พบได้แก่ อาการไอ หายใจลำบาก ไอเป็นเลือด ปอดอักเสบบ่อย และเจ็บลึกที่หน้าอก หายใจลำบากจากน้ำท่วมปอด เป็นต้น นอกจากนี้ อาจมีอาการเนื่องจากมะเร็งลุกลาม หรือแพร่กระจาย เช่น เสียงแหบ อาการทางสมอง ปวดกระดูก เป็นต้น

การวินิจฉัยโรค ทำได้โดย
           
1. ถ่ายภาพเอ็กซเรย์ปอด
            2. ตรวจเสมหะที่ไอออกมา เพื่อหาเซลล์มะเร็ง
            3. ส่องกล้องตรวจดูภายในหลอดลม
            4.ใช้เข็มแทงผ่านผนังทรวงอก หรือขลิบชิ้นเนื้อจากหลอดลม เพื่อการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา

การรักษา
           
เมื่อพบว่าเป็นโรคมะเร็งปอดแน่นอนแล้ว แพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะรักษาด้วยวิธีใด ซึ่งจะเหมาะสมที่สุด โดยพิจารณาถึงอายุภาระความแข็งแรงของร่างกาย ระยะของโรค ชนิดของชิ้นเนื้อ และการยอมรับของผู้ป่วย ซึ่งการรักษาจะประกอบด้วย
            1. การผ่าตัด
            2. การฉายแสง
            3. เคมีบำบัด
            4. การรักษาแบบประคับประคอง

สาเหตุเกิดจาก
           
1. ความสกปรกของอากาศ ภาวะอากาศเป็นพิษในเมืองใหญ่ๆ เช่น ควันดำจากท่อไอเสียรถยนต์ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เช่น นิเกิล สารกัมมันตรังสี 
            2. การสูบบุหรี่จัดเป็นเวลานานๆ มีส่วนสัมพันธ์กับการเป็นมะเร็งปอด โดย 80% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด มีประวัติสูบบุหรี่ 75% ของผู้ป่วยเป็นผู้สูบบุหรี่จัด คือ สูบอย่างน้อยวันละ 20 มวนติดต่อกัน 20 ปีขึ้นไป หรืออย่างน้อยวันละ 10 ม้วนติดต่อกัน 30 ปีขึ้นไป
           
3. แผลเป็นในโรคปอด เป็นผลจากการเป็นโรคเรื้อรังมานาน เช่น วัณโรคปอดซึ่งอาจจะเป็นจุดก่อให้เกิดมะเร็ง

อาการ
           
1. ไอแห้งๆ อยู่นานกว่าธรรมดา
            2. ไอมีเสมหะ
            3. ไอเป็นเลือด แต่เลือดมักออกปนมากับเสมหะ
            4. ปอดอักเสบ มีไข้ เจ็บหน้าอก
            5. น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ซีด อ่อนเพลีย
            6. เสียงแหบ เพราะมะเร็งลุกลามไปยังประสาทบริเวณกล่องเสียง
            7. บวมที่หน้า คอ แขน และอกส่วนบน เนื่องจากมีเลือดดำคั่ง
            8. หายใจลำบาก และหอบเหนื่อย เนื่องจากก้อนมะเร็งโตขึ้น ทำให้เนื้อที่ปอดสำหรับหายใจเหลือน้อยลง ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
            9. กลืนลำบาก เนื่องจากหลอดอาหารถูกกด
            10. เจ็บปวด เนื่องจากมะเร็งลุกลามแพร่กระจายไปในกระดูก ผนังอก ฯลฯ
            11. อัมพาด เนื่องจากมะเร็งแพร่กระจาย ไปยังสมอง หรือไขสันหลัง

การวินิจฉัย
           
1. ถ่ายภาพเอ็กซเรย์ปอด
            2. ตรวจเสมหะที่ไอออกมา เพื่อหาเซลล์มะเร็ง ดังนั้น ผู้ที่สูบบุหรี่จัดมีอาการไอเรื้อรัง และผู้ที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจตามวิธีดังกล่าวปีละครั้ง

การรักษา
           
โดยทั่วไปหลักสำคัญในการรักษามะเร็ง คือ
           
1. การผ่าตัด
           
2. การรักษาโดยรังสี 

การป้องกัน
           
เหตุส่งเสริมให้เกิดโรคมะเร็งปอดมีหลายประการ สาเหตุบางอย่างอาจป้องกันได้ยาก แต่สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่สืบเนื่องจากการสูบบุหรี่นั้น เป็นสิ่งที่อาจป้องกันได้ และการไม่สูบบุหรี่ หรือเลิกสูบบุหรี่จะช่วยลดอัตราการเป็นมะเร็งของปอดได้ จะช่วยให้มีสุขภาพสมบูรณ์ ปราศจากโรคที่มีสาเหตุจากบุหรี่ได้

 

    

 

/ มะเร็งในระบบประสาท / มะเร็งของกระดูก / มะเร็งช่องปาก / มะเร็งกล่องเสียง

/ มะเร็งต่อมธัยรอยด์ / มะเร็งต่อมน้ำเหลือง / มะเร็งตับ / มะเร็งตับอ่อน / มะเร็งปากมดลูก /

/ มะเร็งมดลูก / มะเร็งรังไข่ / มะเร็งเต้านม / มะเร็งปอด / มะเร็งผิวหนัง /

/ มะเร็งต่อมลูกหมาก / มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก / มะเร็งเม็ดเลือดขาว /

/ มะเร็งถุงน้ำดีและท่อน้ำดี /